กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--สนพ.
รองผู้ว่าฯ จ.สงขลา ขานรับนโยบายรัฐสานต่อความสำเร็จลดการใช้พลังงาน ในหน่วยงานราชการ สรุปผลปี ’49 ภาคใต้ตอนล่าง 7 จังหวัด ประหยัดได้ 27 ล้านบาท เผยปี ’51 เตรียมโละเป้าหมายลดใช้ 10% นำเกณฑ์มาตรฐานรูปแบบใหม่มาใช้ เชื่อแนวทางใหม่ข้าราชการยิ้มได้และมีวินัยในการใช้พลังงานมากขึ้น
นายธีรเทพ ศรียะพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยในงานสัมมนารวมพลังข้าราชการไทย ลดใช้พลังงาน ประจำปี 2550 ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์สูงถึง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงานร้อยละ 19.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่นับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เรานำเข้าพลังงานจากต่างประเทศอยู่ที่ 64% (นำเข้าน้ำมันสูงถึง 86.5% ก๊าซธรรมชาติ 27%) และอีก 20 ปีข้างหน้า การนำเข้าจะเพิ่มเป็น 65% (น้ำมันนำเข้า100% ก๊าซธรรมชาตินำเข้า 49%) ทุกครั้งที่ราคาน้ำมันโลกผันผวนปรับตัวสูงขึ้น ก็จะกระทบถึงราคาน้ำมันในประเทศไทย และส่งผลทำให้ต้นทุนการบริการ การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้นด้วย
โดยในส่วนของหน่วยงานภาครัฐทั้งประเทศมีการใช้ไฟฟ้าประมาณ 6,360 ล้านหน่วย/ปี หรือประมาณ 5% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ คิดเป็นเงินประมาณ 15,900 ล้านบาท/ปี ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 895 ล้านลิตร/ปี หรือประมาณ 3.5% ของการใช้น้ำมันทั้งประเทศ คิดเป็นเงินประมาณ 22,375 ล้านบาท/ปี แม้จะเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงมาก แต่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็ให้ความสำคัญเพื่อให้หน่วยราชการเป็นแกนนำเป็นตัวอย่างที่ดีกับภาคอื่นๆ
และเพื่อให้ทุกหน่วยงานได้ปฏิบัติงานได้เต็มที่ และยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการประหยัดพลังงาน มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2550 ให้นำ “ค่ามาตรฐานการใช้พลังงาน” มาใช้กับส่วนราชการตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป ซึ่งจะสอดคล้องกับลักษณะงานที่ส่วนราชการปฏิบัติ โดยคำนึงถึงปัจจัยหลักที่มีผลต่อการใช้พลังงานของแต่ละหน่วยงาน เช่น พื้นที่ จำนวนบุคลากร เวลาในการปฏิบัติงาน เป็นต้น
“ทั้งนี้ เป็นเพราะจากการติดตามการปฏิบัติตามมาตรการลดใช้พลังงานของหน่วยงานราชการ ได้รับคำอุทธรณ์จากหลายหน่วยงาน ทราบว่าการกำหนดเป้าหมายที่ระดับ 10% นั้นทำให้บางหน่วยงานมุ่งที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมาย โดยใช้มาตรการที่มุ่งวิธี เช่น ไม่เปิดไฟขณะที่พื้นที่บริเวณนั้นมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่เปิดพัดลม ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศทั้งที่อุณหภูมิสูงจัดในบางช่วง การลดการใช้ลิฟต์ขณะที่มีการประชุมและต้องการความเร่งด่วน ซึ่งไม่เกิดผลดีต่อการให้บริการประชาชน และสุขภาพจิตของตัวข้าราชการเอง รัฐจึงได้นำแนวทางใหม่มาใช้เป็นการกำหนดมาตรฐานการใช้พลังงาน ที่มีความเป็นเหตุเป็นผลมากกกว่าวิธีเดิม เพราะถ้างานมาก คนมาก ให้บริการมาก การใช้พลังงานก็มากตามไปด้วย เชื่อว่าข้าราชการจะยอมรับวิธีใหม่ ให้บริการได้อย่างเต็มที่ และสุขภาพจิตดีขึ้นกว่าเดิม”
ด้าน นายสมชัย ถาวรวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานภูมิภาคที่ 12 กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศให้การประหยัดพลังงานเป็นวาระแห่งชาติ โดยทุกหน่วยงานราชการต้องเป็นผู้นำในการลดใช้พลังงาน ทั้งด้านไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง และกำหนดเป้าหมายที่ระดับ ร้อยละ10 เทียบกับปริมาณการใช้ในปี 2546 ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้ติดตามการดำเนินงานลดใช้พลังงานในหน่วยงานราชการ ในช่วงปี 2549 โดยอำนวยความสะดวกในการรายงานด้วยระบบ Internet ผ่าน website www.e-report.energy.go.th พร้อมทั้งให้การบริการตอบข้อซักถามทางโทรศัพท์ และเห็นได้ว่า บุคลากรในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ มีความเข้าใจในแนวทางประหยัดพลังงานและให้ความร่วมมือปฏิบัติอย่างจริงจังมากขึ้น
“สำนักงานพลังงานภูมิภาคที่ 12 มีพื้นที่รับผิดชอบใน 7 จังหวัด คือ สงขลา ตรัง พัทลุง สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส จาก 476 หน่วยงาน ที่รายงานข้อมูลการใช้พลังงานครบถ้วน พบว่าลดการใช้พลังงานในปี 2549 ได้ถึง 2.61 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง และ 811,000 ลิตร ประหยัดเงินงบประมาณกว่า 26.81 ล้านบาท สำหรับหน่วยงานราชการที่สามารถลดการใช้พลังงาน ได้ดีเยี่ยม ด้านไฟฟ้า ได้แก่ สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.ปัตตานี และด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอควนกาหลง จ.สตูล ซึ่งต้องขอแสดงความยินดี และขอบคุณ เพื่อนข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ของรัฐทุกท่าน ที่ร่วมมือลดใช้พลังงานจนเห็นผลเป็นที่ น่าพอใจเป็นอย่างมาก” ผอ.สพภ.12 กล่าว
โครงการนี้ถือเป็นประโยชน์แก่ข้าราชการในเรื่องการลดใช้พลังงานทั้งปริมาณน้ำมัน และไฟฟ้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านของการประหยัดรายจ่ายด้านพลังงาน การลดการพึ่งพาด้านพลังงานจากต่างประเทศ และเพิ่มโอกาสในการนำงบประมาณไปพัฒนาในด้านอื่นๆ ที่มีความสำคัญและจำเป็นกับประเทศต่อไป