เฮย์กรุ๊ปเผย อำนาจซื้อของผู้บริหารไทยติด 1 ใน 10 ของโลก

อังคาร ๑๗ กรกฎาคม ๒๐๐๗ ๑๐:๒๔
กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--ScottAsia Communications
ผลสำรวจระดับเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูงจาก 47 ประเทศทั่วโลกไทยติดหนึ่งในสิบรั้งอันดับ 8 ผลสำรวจรวบรวมจากตัวเลขมูลค่าอำนาจซื้อของผู้บริหารทั่วโลก และพิจารณาจากค่าครองชีพและอัตราการเสียภาษี
เฮย์ กรุ๊ป เผยผลสำรวจพร้อมกันทั่วโลกในวันนี้ว่า ผู้บริหารระดับสูงของไทยมีรายได้ส่วนบุคคลหลังหักภาษีแล้ว (Disposable Income) มากกว่าประเทศอื่นๆ แต่น้อยกว่า ซาอุดิอาระเบีย (อันดับที่ 1) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง รัสเซีย ตุรกี เม็กซิโก และยูเครน ตามลำดับ โดยสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 9 รองจากไทย
จากผลสำรวจของเฮย์ กรุ๊ป เผยให้เห็นความจริงที่น่าสนใจว่า ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตจะมีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารในอัตราที่สูง แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศที่เศรษฐกิจมั่นคงแล้ว อาทิ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร และแคนาดา อัตราการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารกลับอยู่ในอันดับที่ 40 ขึ้นไปทั้งสิ้น ส่วนผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐอเมริกา (อันดับที่ 24) ออสเตรเลีย (อันดับที่ 26) และญี่ปุ่น (อันดับที่ 27) จัดว่ามีรายได้ส่วนบุคคลในอันดับกลางๆ
ผลสำรวจนี้รวบรวมข้อมูลที่สอดคล้องกันทั่วโลกจากระบบ PayNet ของเฮย์กรุ๊ป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจซื้อ (Purchasing Power) ที่แท้จริงในการใช้จ่ายของพนักงานระดับผู้บริหาร โดยที่ระบบ PayNet ช่วยให้สามารถทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของผู้บริหารกว่า 47 ประเทศทั่วโลกที่เฮย์ กรุ๊ปดำเนินการอยู่ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
เฮย์ กรุ๊ปให้ความเห็นว่า การที่รายได้ของผู้บริหารระดับสูงของไทยสูงติดอันดับที่ 8 นั้นสอดคล้องกับฐานะของประเทศไทยที่เป็นตลาดเกิดใหม่และมีอัตราการเติบโตสูง “การเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดเกิดใหม่ เช่นประเทศไทย ทำให้เกิดความต้องการตัวผู้บริหารระดับสูงที่มีความสามารถอย่างไม่เคยมีมาก่อน” นายอโณทัย อดุลพันธ์ ผู้จัดการทั่วไปของเฮย์ กรุ๊ป ประเทศไทยกล่าว “ด้วยความที่ไทยยังขาดแคลนผู้บริหารที่มีความสามารถ ประกอบกับมีการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษและสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ ให้กับพนักงานระดับผู้บริหารในประเทศไทย ทำให้ดัชนีค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารไทยอยู่ในระดับสูง”
อย่างไรก็ตาม นายอโณทัย ให้ข้อสังเกตว่า ผู้บริหารไทยยังไม่ควรดีใจจนเกินไป “เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบยุโรปตอนเหนือ ผู้บริหารไทยยังต้องใช้จ่ายเงินรายได้ส่วนบุคคลในสัดส่วนที่มากกว่าไปกับการดูแลรักษาสุขภาพ การเตรียมการเพื่อการเกษียณอายุ และการศึกษาของบุตร ซึ่งรัฐบาลของประเทศในยุโรปจะมีเงินสวัสดิการช่วยเหลือในค่าใช้จ่ายส่วนนี้มากกว่าที่ประเทศไทย
สำหรับในภูมิภาคเอเชีย มีเพียงฮ่องกงเท่านั้นที่รายได้ส่วนบุคคลของผู้บริหารสูงกว่าประเทศไทย โดยฮ่องกงอยู่ในลำดับที่สามโดยมีอำนาจซื้อของผู้บริหารอยู่ที่ 203,947 ดอลลาร์สหรัฐ เปรียบเทียบกับประเทศไทยที่ 147,547 ดอลลาร์สหรัฐ
ผลสำรวจของเฮย์ กรุ๊ป แสดงให้เห็นว่า โดยปกติอัตราเงินเดือนสำหรับพนักงานระดับผู้บริหารของฮ่องกงนั้นจะสูงอยู่แล้ว ซึ่งบางครั้งอาจจะสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ สิงคโปร์ ด้วย นอกจากนี้ อัตราการเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลของฮ่องกงนั้นอยู่ในอัตราที่ต่ำจึงทำให้มีอำนาจซื้อสูงขึ้น
นายเหิน หยิน โกห์ ผู้จัดการฝ่าย Reward Information Services ของเฮย์ กรุ๊ปในเซี่ยงไฮ้ ได้ให้ความคิดเห็นว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนทำให้ผู้บริหารของจีนมีรายได้ส่วนบุคคลหลังหักภาษีแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 126,281 ดอลลาร์สหรัฐ จัดอยู่ในอันดับที่ 14
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอินเดียจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง แต่บรรดาผู้จัดการในอินเดียกลับมีอำนาจซื้อเพียง 92,750 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ทำให้อินเดียตกไปอยู่อันดับที่ 36 ในการสำรวจในครั้งนี้
“ประเทศอินเดียโชคดีตรงที่มีคนมีการศึกษาอยู่เยอะ และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ทำให้บริษัทข้ามชาติในอินเดียมีตัวเลือกในการว่าจ้างพนักงานที่มีความสามารถอยู่เยอะ” นายเหินกล่าว “อย่างไรก็ตาม เงินเดือนที่จ่ายให้กับพนักงานระดับผู้บริหารในอินเดียมีตัวเลขเพิ่มขึ้น 15-20% และอินเดียคงจะไม่รั้งอันดับท้ายๆ เช่นนี้อยู่นานนัก”
ฐานข้อมูลใน PayNet ถูกสร้างขึ้นมาด้วยวิธีการของเฮย์กรุ๊ปที่สอดคล้องตรงกันทั่วโลกในการวัดความสำคัญของงานและการประเมินค่าตอบแทนและผลประโยชน์ ข้อมูลจากระบบ PayNet ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถหาวิธีการที่จะดึงดูดตัวและใจของผู้บริหารระดับสูงให้ทำงานกับองค์กรของตนต่อไป นายอโณทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “วัตถุประสงค์ของเฮย์กรุ๊ป คือ เราหวังที่จะช่วยให้ผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลของบริษัทข้ามชาติ (MNCs) ซึ่งรวมถึง บริษัทของคนไทยที่กำลังขยายธุรกิจไปในต่างประเทศอย่างรวดเร็ว สามารถทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบการจ่ายค่าตอบแทนขององค์กรตนในประเทศต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ”
เกี่ยวกับเฮย์ กรุ๊ป
บริษัท เฮย์ กรุ๊ป เป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกที่ทำงานร่วมกับผู้นำองค์กรในการผลักดันกลยุทธ์มาสู่การปฏิบัติ เราพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจูงใจพวกเขาเหล่านั้นให้ปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ ด้วยสาขา 88 สาขาใน 47 ประเทศ เราทำงานร่วมกับลูกค้ากว่า 7,000 คนทั่วโลก ลูกค้าของเราประกอบด้วยองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนในหลากหลายอุตสาหกรรม และแน่นอนว่ามีความท้าทายทางธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป เรามุ่งเน้นการสร้างความเปลี่ยนแปลงและผลักดันให้องค์กรเหล่านั้นตระหนักถึงศักยภาพที่มีอยู่ของตนเอง
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทเฮย์ กรุ๊ป โปรดเยี่ยมชมเว็ปไซต์ของเราที่ www.haygroup.com
วิธีการที่ใช้ในการสำรวจ / เกี่ยวกับ Hay Group PayNet
รายงาน World Pay Report ของเฮย์ กรุ๊ปซึ่งถูกรวบรวมและวิเคราะห์โดยใช้ระบบ PayNet ของเฮย์กรุ๊ป ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่มีเนื้อหาครอบคลุมมากที่สุดในด้านการกำหนดค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของพนักงาน ในรายงานนี้จะเป็นการเปรียบเทียบรายละเอียดการจ่ายเงินเดือน โบนัส ภาษี และอัตราค่าครองชีพของพนักงานในทุกระดับ ตั้งแต่แรงงานที่ไม่ต้องอาศัยทักษะไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง และเปิดเผยข้อมูลรายได้ส่วนบุคคลหลังหักภาษี (Disposable Income) ของผู้จัดการแผนกของบริษัทต่างๆ จาก 47 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และออสเตรเลีย สำหรับค่าครองชีพจะคำนวณจากรูปแบบการใช้จ่าย “โดยเฉลี่ย” ภายในแต่ละประเทศ
ดูข้อมูลเกี่ยวกับระบบ PayNet เพิ่มเติมได้ที่ www.haypaynet.com
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ:
ณัฐมณฑ์ ณัฐณพงศ์ / ScottAsia Communications
โทร: + 66 2644 7453, 089 668 1711
[email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ