กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--กกร.
ประธานสามสถาบันภาคเอกชน ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย สนับสนุนรัฐบาลลงนาม FTA ไทย-ญี่ปุ่น
ภาคเอกชนไทย ให้ความสำคัญกับประเทศญี่ปุ่น ในฐานะประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย การลงทุนต่างประเทศในไทย กว่าร้อยละ 40 เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น การผลักดันให้ลงนาม FTA ไทย-ญี่ปุ่น จะสามารถดึงดูดให้นักลงทุนญี่ปุ่น ขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งสินค้ากลับไปขายยังตลาดญี่ปุ่นเอง และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปี ที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการเจรจากับภาครัฐ มาโดยตลอด จึงรับทราบข้อมูลต่าง ๆ เป็นอย่างดี และเห็นว่าการจัดทำความตกลง JTEPA นี้ มิได้ครอบคลุมเฉพาะการลดภาษีศุลกากรของรายการสินค้าเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
สำหรับภาคอุตสาหกรรมนั้น มีการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ แล้ว เพียงแต่ส่วนหนึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการลงนามความตกลง JTEPA บ้าง แต่ก็มีเวลา 5-10 ปี ที่จะปรับตัว และภาครัฐเองก็ได้เตรียมจัดตั้งกองทุนเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านี้ จึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก
สำหรับภาคเกษตร จะได้รับผลดีอย่างแน่นอน ด้วยความตกลง JTEPA นี้ได้ลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรหลายประเภท เช่น สินค้ากุ้ง ไก่ สับปะรด ผัก แป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น จึงทำให้ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร ได้ประโยชน์จากความตกลงนี้ เพราะญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารกว่าร้อยละ 60
ภาคเอกชนมองว่า หากชะลอการลงนามความตกลง JTEPA นี้ ออกไป จะทำให้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในญี่ปุ่น ให้กับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ซึ่งลงนาม FTA กับญี่ปุ่นไปแล้ว นอกจากนี้ เวียดนามและอินโดนีเซียในฐานะประเทศคู่แข่งที่สำคัญของสินค้าเกษตรของไทย กำลังจะลงนาม FTA กับญี่ปุ่นในเร็วๆนี้ จึงคาดว่านักลงทุนญี่ปุ่น คงหันไปลงทุนในเวียดนาม
หากดูจากสถิติการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 13 ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ โดยในปี 2549 มีมูลค่าการส่งออก 16,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ในปีนี้ (2550) คาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 17,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากลงนามความตกลง JTEPA แล้ว คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนประเด็นข้อกังวลในเรื่อง การนำเข้าสินค้าขยะอุตสาหกรรม และการจดสิทธิบัตรจุลชีพนั้น ภาคเอกชนได้ทบทวนแล้ว เห็นว่าไม่น่ากังวลเนื่องจากมีกฎหมายไทย เช่น พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาบาเซล และข้อยกเว้นด้านสุขอนามัยของคน พืช และสัตว์ เป็นต้น ควบคุมอยู่
- ม.ค. ๒๕๖๘ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จัดงานสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “Regulatory Guillotine Seminar”
- ม.ค. ๒๕๖๘ สภาธุรกิจไทย-สหภาพยุโรป จัดงานแถลงข่าว “สภาธุรกิจไทย-สหภาพยุโรป แถลงท่าทีของภาคเอกชน เรื่องการเปิดเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรป”
- ม.ค. ๐๕๑๒ QTC โชว์ศักยภาพความแกร่งทางธุรกิจ เตรียมรับรางวัล Q-Mark ติดกัน 3 ครั้งต่อเนื่อง