กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สช.
ชาวมาบตาพุดเดือดร้อนหนักหลายปัญหารุมเร้าฝากความหวังกับ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ โดยมายื่นหนังสือขอใช้สิทธิ์ตามมาตรา 5 มาตรา 10 และมาตรา 11 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะนี้ สช.เร่งใช้เครื่องมือใหม่ภายใต้ พ.รบ.สุขภาพแห่งชาติ แก้ไขและบรรเทาปัญหาให้ชาวมาบตาพุด เพื่อหาทางเลือกการพัฒนาให้กับตนเอง
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “ปมปริศนาการพัฒนาที่ระยอง” พบว่า นอกจากปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่รุนแรงเข้ามารุมเร้าชาวมาบตาพุดแล้ว ในงานวิจัยที่ศึกษามายังพบว่ามีปัญหาทางสังคมหลายด้านที่มีความรุนแรงมากกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัดอื่นๆ ทั้งในแง่ของอัตราผู้ป่วยเอดส์รายใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 5 เท่า โดยเฉพาะสถานการณ์เด็กและเยาวชน ยิ่งน่าเป็นห่วง พบว่ามีอัตราเด็กที่พยายามฆ่าตัวตาย เด็กที่เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ เด็กที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร อัตราเด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง และเด็กที่ได้รับผลกระทบจาก HIV รวมถึงคดีประทุษร้าย มีคนว่างงาน ครัวเรือนมีหนี้สินในตัวเลขที่สูง ช่องว่างรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยเพิ่มสูงขึ้น และคดียาเสพติด คดีประทุษร้ายต่างๆ ต่อประชากรสูงขึ้น ปัญหาทางสังคมเหล่านี้ทำให้จังหวัดระยองมีดัชนีการพัฒนาด้านสุขภาพ ด้านครอบครัวและชุมชนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น สาเหตุของปัญหาสังคมประการหนึ่ง คือ การไหล่บ่าเข้ามาของแรงงานต่างถิ่น ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว ทำให้เกิดชุมชนใหม่ซ้อนทับชุมชนเก่า และขาดความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการร่วมรับผิดชอบต่อการพัฒนาชุมชน ทั้งๆ ที่ปีนี้ระยองเป็นจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวของจังหวัดระยองสูงที่สุดในประเทศ โดยเฉลี่ยเท่ากับ 850,253 บาท
“ สภาพปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประชาชนกำลังดิ่งลงสวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด ส่วนใหญ่เรามักจะคิดว่า การพัฒนาจะนำมาซึ่งความผาสุกและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่จังหวัดระยองเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้เห็นชัดว่าเงินไม่ได้ทำให้เรามีความสุข ดังนั้นการที่ สช.กับมูลนิธินโยบายสุขภาวะร่วมกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาของมาบตาพุด เราไม่ได้หวังว่าจะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เราหวังว่าจะทำให้เกิดทางเลือกการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพราะขณะนี้ในระยองมีแต่การลงทุนทางด้านเศรษฐกิจ สร้างนิคมอุตสาหกรรม ถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง แต่การลงทุนทางสังคมมีสัดส่วนน้อยมากจนเทียบกันไม่ได้เลยกับตัวเลขทางเศรษฐกิจ ดังนั้นระยองจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการลงทุนทางสังคมอย่างมากและเร่งด่วน แต่ไม่ใช่หมายถึงการจัดสรรเงินหรือการหาเงินมาให้เท่านั้น แต่ต้องสร้างพลังของผู้คน สร้างกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการทางปัญญาอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง ซึ่งเรากำลังดำเนินการในการทำสมัชชาสุขภาพที่ระยองอยู่ในขณะนี้” ดร.เดชรัตกล่าว
ด้านนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึง การนำกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาใช้กับกรณีปัญหามาบตาพุด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สั่งสมมานาน ดังนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายจึงจะสามารถแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ สมัชชาสุขภาพจะมุ่งสร้างความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทุกฝ่าย โดยมีการศึกษาถึงบทเรียนของการพัฒนาที่ผ่านมา ภัยคุกคามและความหวังของการสร้างสุขภาวะ เราหวังว่าสมัชชาสุขภาพจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันกำหนดทางเลือกในการพัฒนาที่เอื้อต่อสุขภวะของประชาชนชาวระยองได้ มุ่งเน้นไปที่การสร้างองค์ความรู้ และกระตุ้นเตือนให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น สร้างพลังทางสังคมของชาวระยอมให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืนได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
โทร.02-590-2304 โทรสาร 02-590-2311
www.nationalhealth.or.th