“เป๋าฮื้อบนบก ผมนางบ่อดิน” อาชีพทางเลือกใหม่ หนุนเศรษฐกิจประมงใต้

จันทร์ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๐๐๗ ๑๕:๒๖
กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สกว.
หอยเป๋าฮื้อและสาหร่ายผมนาง ทรัพยากรทางทะเลที่มีประโยชน์ หอยเป๋าฮื้อเป็นอาหารทะเลที่มีโปรตีนสูง คลอเรสเตอรอลต่ำ ส่วนสาหร่ายผมนางเป็นพืชที่มีไฟเบอร์และแร่ธาตุต่างๆ ในปริมาณสูง แต่มีพลังงานต่ำ จึงจัดเป็นอาหารเสริมสุขภาพได้เป็นอย่างดี
รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ประสานงาน สำนักประสานงานวิจัยและพัฒนา “อุตสาหกรรมเกษตรพืชและสัตว์น้ำ” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)เปิดเผยว่า งานวิจัยเกี่ยวกับหอยเป๋าฮื้อและสาหร่ายผมนางที่ สกว. ได้สนับสนุนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี มาตั้งแต่ปี 2535 และปี 2548 ตามลำดับ ขณะนี้พร้อมแล้วที่จะเผยแพร่สู่ชุมชน เพื่อให้เป็นทางเลือกใหม่อีกทางหนึ่งที่เกษตรกรสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
หอยเป๋าฮื้ออยู่ในกลุ่มหอยฝาเดียว เปลือกมีรูปร่างค่อนข้างแบน รูปทรงยาวรี มียอดเตี้ย ไม่มีฝาปิดเปลือก เมื่อจับเปลือกหงายขึ้นจะมีลักษณะคล้ายใบหู มีรูเป็นแนวตามขอบด้านบนของเปลือก จึงเป็นที่มาของชื่อ หอยร้อยรู บางท้องถิ่นเรียก หอยโข่งทะเล นิยมบริโภคมากในกลุ่มชาวเอเชีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลี
หอยเป๋าฮื้อมีอยู่ประมาณ 100 ชนิดทั่วโลก และมีเพียงประมาณ 20 ชนิดเท่านั้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหอยเป๋าฮื้อชนิดฮาลิโอทิส แอสสินิน่า (Haliotis asinina) เป็นชนิดที่กำลังจะพัฒนาเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ด้วยศักยภาพ 3 ด้านคือ มีสัดส่วนเนื้อที่บริโภคได้และอัตราการเติบโตสูงสุดในหอยเป๋าฮื้อทุกชนิดทั่วโลก สามารถเลี้ยงขายได้ทั้งในขนาดตลาดขนาดคอกเทลและขนาดสเต็ก นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมทุกขั้นของวงจรชีวิตได้โดยการใช้ "ลูกพันธุ์จากโรงเพาะฟัก" และการเลี้ยงแบบ "ฟาร์มบนบกในระบบน้ำหมุนเวียนแบบกึ่งปิด"
ระบบการเพาะเลี้ยง “หอยเป๋าฮื้อ” นั้น จะถูกเลี้ยงโดยผ่านกระบวนการคัดพันธุ์ให้ได้พันธุ์ที่ดี แข็งแรง โตเร็ว นำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ ระบบการเพาะพันธุ์ที่ใช้เน้นการจัดสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติให้มากที่สุดโดยไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ ลูกหอยที่ได้ผ่านการคัดเลือกให้ได้ลูกพันธุ์ที่มีลักษณะดี อัตราการเติบโตสูง และฝึกให้สามารถกินอาหารเม็ดได้ ลูกหอยที่สามารถนำไปเลี้ยงในระบบต่างๆ ได้มีขนาดความยาวเปลือกตั้งแต่ประมาณ 1.5-2 เซนติเมตรขึ้นไป
การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ มีหลักการเบื้องต้นอยู่ที่การมีน้ำทะเลที่ใสสะอาด ความเค็มสูง ไหลผ่านอยู่ตลอดเวลา มีที่หลบแสงในเวลากลางวัน และมีอาหารที่เหมาะสมในเวลากลางคืน ซึ่งสภาพเหล่านี้สามารถจัดการได้ง่ายในระบบการทำฟาร์มบนบกในระบบน้ำหมุนเวียนแบบกึ่งปิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทย
ด้านดร.ระพีพร เรืองช่วย ภาควิชาเทคโนโลยีและการอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า สาหร่ายผมนาง นั้นเป็นสาหร่ายทะเลสีแดงสกุลกราซิลาเรีย (Gracilaria spp.) ในอ่าวปัตตานีมีสองชนิดคือ สาหร่ายผมนางเส้นเล็ก และสาหร่ายผมนางเส้นใหญ่ ต้นมีลักษณะเป็นพุ่มสูง 15-20 เซนติเมตร แตกแขนงเป็นเส้นกิ่งก้านยาว มีสีน้ำตาลเข้ม มองดูคล้ายเส้นผม
ปัจจุบันสาหร่ายผมนางเส้นใหญ่ในธรรมชาติมีน้อยจึงมีราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 6-10 บาทน้ำหนักสด จึงมีการเริ่มเลี้ยงสาหร่ายกันในบ่อเลี้ยงกุ้งร้าง สาเหตุที่ต้องนำมาเลี้ยงในบ่อกุ้งร้าง เพื่อเป็นทางหนึ่งในการสร้างอาชีพเพิ่มเติมจากการเก็บจากธรรมชาติซึ่งมีปริมาณและคุณภาพไม่คงที่ และทำให้สามารถใช้พื้นที่ที่ถูกทิ้งให้เกิดประโยชน์อีกด้วย
สำหรับประโยชน์ของสาหร่ายผมนางนั้นมีมากมาย เช่น ใช้เป็นวัตถุดิบในการสกัดวุ้นและเยลลี่ และยังนำมาบริโภคสด (ทำยำ ผักลวกจิ้มน้ำพริก) โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม เนื่องจากทำให้รู้สึกอิ่มท้องและไม่อ่อนเพลีย อีกทั้งยังมีไฟเบอร์และแร่ธาตุต่างๆในปริมาณสูง สามารถนำมาทำผลิตภัณฑ์ อาหารเสริมสุขภาพ หรืออาหารที่ให้เส้นใยอาหารให้พลังงานต่ำ ช่วยลดน้ำหนักได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นส่วนผสมในการแปรรูปอาหารอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ขนมปัง แยม มายองเนส ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และทำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือจะใช้ทางการแพทย์เป็นยารักษาโรค เช่น ป้องกันและรักษาโรคท้องผูก ริดสีดวงทวาร ช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด และลดการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด ทางการเกษตรยังใช้ทำปุ๋ย เป็นต้น
รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สัตว์เศรษฐกิจอย่าง หอยเป๋าฮื้อ นั้นยังพึ่งพาระบบการเลี้ยงที่ใช้พืชนานาประโยชน์อย่าง สาหร่ายผมนาง มาใช้เป็นอาหาร ดังนั้นจึงเป็นความต่อเนื่องในการนำทรัพยากรจากทะเลเหล่านี้มาใช้อย่างคุ้มค่า ทั้งหอยเป๋าฮื้อและสาหร่ายผมนาง จึงเหมาะในการเป็นอาชีพทางเลือกที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวประมงชายฝั่ง ทั้งนี้ หากใช้งานวิจัยเป็นฐาน จะทำให้อาชีพเกษตรนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชนภาคใต้ได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม