กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ตลท.
บริษัทจดทะเบียนประกาศผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนของปี 2550 มีกำไรสุทธิรวม 319,013 ล้านบาท โดยมียอดขายรวม 4,218,627 ล้านบาท โดยบริษัทจดทะเบียนร้อยละ 79 มีกำไรสุทธิ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม 3 อันดับแรกที่กำไรสุทธิรวมสูงสุดได้แก่ กลุ่มทรัพยากร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม บริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ PTT SCC PTTEP BBL และ TOP ตามลำดับ
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนประจำงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 ว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 465 บริษัท จากบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 491 บริษัท รวมกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทในกลุ่ม NC( Non-Compliance) และ NPG (Non — Performing Group ) มีกำไรสุทธิรวม 319,013 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15 โดยมีบริษัทที่มีกำไรสุทธิ 366 บริษัท และขาดทุนสุทธิ 99 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 79 ต่อ 21 อย่างไรก็ตามหากพิจารณายอดขายรวมงวด 9 เดือน ปี 2550 เท่ากับ 4,218,627 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ผลการดำเนินงานโดยรวมในงวดไตรมาส 3 ปี 2550 มีกำไรสุทธิ 108,052 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ6 ในขณะที่ยอดขายรวมมีจำนวน 1,476,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากงวดเดียวกันของปีก่อน
นางภัทรียากล่าวว่า “ สาเหตุหลักที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนงวด 9 เดือนของปี 50 ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน มาจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของกลุ่มธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS 39) ประกอบกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลด ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ลดลง ”
สำหรับบริษัทในกลุ่ม SET100 มีกำไรสุทธิ 287,671 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิรวม ลดลงร้อยละ 11 ส่วนยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ผลกระทบที่สำคัญเกิดจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นตั้งแต่ต้นปี ทำให้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 41 ส่วนบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET50 กำไรสุทธิ 262,006 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82 ของกำไรสุทธิรวม ลดลงร้อยละ 15 โดยมี ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทำให้กำไรขั้นต้นลดลงจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 20
ทั้งนี้ บริษัทที่มีมูลค่ากำไรสุทธิรวมสูงสุด 5 อันดับแรกคือ บมจ.ปตท. (PTT) บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และ บมจ.ไทยออยล์ (TOP)
ด้านผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group ) ไม่รวมบริษัทในกลุ่ม NC( Non-Compliance) และ NPG (Non — Performing Group ) มียอดขายเพิ่มเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยกเว้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยผลการดำเนินงานเรียงตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มียอดรวมกำไรสุทธิสูงสุด ดังนี้
1. กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วย หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่มีกำไรสุทธิ 151,456 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4
2. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วย หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดวัสดุก่อสร้างและ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มีกำไรสุทธิ 56,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากงวดเดียวกันของปีก่อน
3. กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วย หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ และหมวดยานยนต์ มีกำไรสุทธิ 28,360 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และต้นทุนขายเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกันร้อยละ 9 ในขณะที่กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงร้อยละ 60
4. กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วย หมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไรสุทธิรวม 27,238 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 63 โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 12 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 17,539 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 73 โดยมีสาเหตุหลักจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของธปท. เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS 39)
ในขณะที่บริษัทในหมวดเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ (ไม่รวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง) 19 บริษัท มีกำไรสุทธิ 3,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14 เนื่องจากบริษัทเงินทุนมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลรับสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไรสุทธิรวม 3,454 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13
5. กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วย หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีกำไรสุทธิ 25,534 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 อย่างไรก็ตาม หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีกำไรสุทธิสูงขึ้นร้อยละ 34 โดยมีผลกำไรจากการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้น
6. กลุ่มบริการ ประกอบด้วย หมวดพาณิชย์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดการแพทย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดบริการเฉพาะกิจ และหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ มีกำไรสุทธิ 24,265 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มเพียงร้อยละ 7 โดยหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ กำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 19
7. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วย หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจการเกษตร มีกำไรสุทธิ 6,981 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 29 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะตกต่ำของราคาเนื้อสัตว์ในประเทศและต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2550
8. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย หมวดของใช้ในครัวเรือน หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดแฟชั่น มีกำไรสุทธิ 2,251 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 51 จากผลประกอบการที่ลดลงของหมวดแฟชั่นเป็นหลัก
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร.0-2229—2036 / ศรินทร์ลักษณ์ จิตกะวงศ์ โทร. 0-2229—2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797
- พ.ย. ๗๕๙๐ Gossip News: FSMARTยังโตต่อเนื่อง
- พ.ย. ๒๕๖๗ Gossip News: “GUNKUL ติดโผ”
- พ.ย. ๒๕๖๗ ปี 2554 บจ. มีกำไรรวม กว่า 6.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.30% จากปี 2553