กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--ชินแซทเทลไลท์
บมจ. ชินแซทเทลไลท์ จัดงานประชุมสัมมนาประจำปีพันธมิตรในโครงการ iPSTAR ระดับภูมิภาค 17 ประเทศกว่า 60 ราย เพื่อร่วมกับพันธมิตรรุกตลาดบรอดแบนด์ หวังเปิดการขาย iPSTAR ทั่วภูมิภาค เร่งเดินหน้าติดตั้งอุปกรณ์ภาคพื้นดิน เกตเวย์และอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ (User Terminal)
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัยกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย เปิดเผยว่า "บริษัทฯ จัดการประชุมสัมมนาประจำปีพันธมิตรโครงการ iPSTAR ระดับภูมิภาค ครั้งนี้นับเป็นปีที่ 3 ที่จัดงาน โดยวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกับกลุ่มพันธมิตร iPSTAR วางแผนการตลาดและการขาย ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายจะร่วมกับ พันธมิตรติดตั้งอุปกรณ์ภาคพื้นดิน ทั้งเกตเวย์และ User Terminal ของ iPSTAR ได้ทั่วภูมิภาค โดยภายในงานมีการนำเสนอแอพพลิเคชั่น (Application) ของ iPSTAR หลากหลายรูปแบบรองรับการใช้งานต่างๆ ของลูกค้าและพันธมิตร พร้อมกับได้รับความร่วมมือจากแยงกี้ กรุ๊ป (The Yankee Group) ร่วมบรรยายในงาน เรื่องทิศทางธุรกิจบรอดแบนด์ในเอเชียอีกด้วย"
iPSTAR เป็นโครงการดาวเทียมบรอดแบนด์ สามารถให้บริการรับและส่งข้อมูลได้สูงถึง 35 Gpbs หรือประมาณ 20 เท่าของดาวเทียมทั่วไป มีจุดเด่นที่ต้นทุนช่องสัญญาณและอุปกรณ์รับส่งสัญญาณราคาต่ำ ปัจจุบันมีพันธมิตรร่วมโครงการแล้วทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ เมียนมาร์ และอีกหลายประเทศที่สนใจร่วมเป็นพันธมิตรซึ่งจะสามารถประกาศได้เร็วๆ นี้
ความคืบหน้าล่าสุด iPSTAR เมื่อเดือนมีนาคมนี้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสหรัฐอเมริกา (US Ex-Im Bank) องค์การเพื่อการส่งออกแห่งฝรั่งเศส (Coface Group of Finance) ธนาคารซิตี้แบงก์ (CITIBANK) และธนาคาร บีเอ็นพี พาร์ลิบาร์ (BNP) วางใจอนุมัติเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการ iPSTAR ได้ทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัทได้ประกาศเลือก บริษัท แอเรียนสเปซ ของฝรั่งเศสให้เป็นผู้ส่งดาวเทียม iPSTAR ในปี 2546 นี้
ทั้งนี้ ในโอกาสที่จัดงานนี้ บริษัทได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับพันธมิตรหลายรายดังนี้
1. บมจ. ชินแซทเทลไลท์ร่วมลงนามในข้อตกลงการร่วมงาน (Framework Agreement) กับบริษัท เซี่ยงไฮ้ วีแซท เน็ทเวริ์ค ซีสเต็ม จำกัด (Shanghai VSAT Network System Co., Ltd.) ผู้ให้บริการ VSAT รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของจีน ในลักษณะพันธมิตรร่วมให้บริการระดับชาติ หรือ NSP (National Service Provider) ของโครงการ iPSTAR ในประเทศจีน โดยนายหยู เจี้ยนกว๋อ (Mr. Yu Jianguo) กรรมการผู้อำนวยการ (President) Shanghai VSAT เปิดเผยว่า "บริษัทมีนโยบายเร่งขยายตลาดและกระตุ้นการใช้งานบรอดแบนด์ จึงร่วมมือกับ iPSTAR เนื่องจากเชื่อมั่นในเทคโนโลยี iPSTAR ว่าสามารถเป็นเครือข่ายความเร็วสูงที่ครอบคลุมประเทศจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เทคโนโลยี iPSTAR ยังมีจุดแข็งด้านราคา ที่ช่วยให้ต้นทุนการให้บริการต่ำ สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับบริการบรอดแบนด์อื่นๆ " Shanghai VSAT เตรียมเปิดให้บริการบรอดแบนด์ราวไตรมาส 3 ปีนี้ เร่งเดินหน้าติดตั้งเกตเวย์ iPSTAR ตั้งเป้าติดตั้งอุปกรณ์ภาคพื้นดิน (iPSTAR Terminal) ในระยะอันใกล้กว่า 5,000 จุดทั่วประเทศจีน โดยกำหนดให้บริการได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ เตรียมประเดิมรองรับการใชังานบรอดแบนด์ใน 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1.ใช้งานด้านระบบศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Information Center) ของกระทรวงประชาสงเคราะห์ (Ministry of Civil Affair) 2. ใช้งานด้านเครือข่ายลอตเตอรี่ และ 3. ให้บริการเครือข่ายการสื่อสารขององค์กร หรือ VPN
2. บมจ.ชินแซทเทลไลท์ ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ บริษัท VSNL หน่วยงานสื่อสาร โทรคมนาคมของรัฐที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของอินเดีย ที่เพิ่งแปรรูปเป็นบริษัทเอกชนเมื่อเร็วๆ นี้และเป็น ISP รายใหญ่ที่สุดในอินเดีย โดย VSNL จะเป็นพันธมิตรร่วมให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง iPSTAR และวงจรเชื่อมระหว่างประเทศ หรือ IPLC (International Private Leased Circuit) ในประเทศอินเดียอีกด้วยตามข้อตกลงร่วมกัน ชินแซทเลทไลท์และ VSNL จะร่วมกันให้บริการ iPSTAR โดยใช้อุปกรณ์ภาคพื้นดิน iPSTAR ร่วมกับดาวเทียมทั่วไป โดยชินแซทเทลไลท์จะติดตั้งเกตเวย์ และ VSNL ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมในอินเดียจะเป็นผู้ปฏิบัติการและควบคุมเกตเวย์ รวมถึงทำการตลาดและการขาย และการให้บริการแก่ลูกค้าอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในราวไตรมาสที่ 4 ปี 2545 นี้
3. บมจ.ชินแซทเทลไทล์ ลงนามในสัญญาร่วมบริการกับบริษัท สยามแซ็ทเน็ทเวอร์ค จำกัด (SiamSat Network Co.,Ltd.) ผู้ให้บริการ VSAT รายใหญ่ ซึ่งเป็นลูกค้าที่ใช้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคมมาหลายปีแล้ว นายสุรศักดิ์ ยุรยาตร์ กรรมการผู้จัดการ SiamSat Network เปิดเผยว่า "SiamSat Network มองหาเทคโนโลยีที่มีความสามารถเชิงแข่งขันได้สูง โดยเฉพาะด้านราคาและเทคโนโลยีเมื่อเทียบกับเคเบิล โมเด็ม หรือ ADSL ซึ่งเทคโนโลยี iPSTAR มีจุดเด่นที่ต้นทุนช่องสัญญาณและอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณราคาต่ำ บริษัทฯ จึงมั่นใจว่าจะสามารถรุกตลาดบรอดแบนด์ได้ตามเป้าหมาย" โดย SiamSat Network จะเป็นพันธมิตรร่วมให้บริการ (Service Provider) iPSTAR ในประเทศไทย เพื่อให้บริการ VSAT แก่ลูกค้าของบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ ธนาคาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ปั๊มน้ำมัน บริษัทนำเข้าและส่งออกและบริษัทห้างร้านขนาดกลางและเล็ก หรือ SME ซึ่งประกอบไปด้วยการเปลี่ยน VSAT ของลูกค้าปัจจุบันและจากลูกค้าใหม่
4. บมจ.ชินแซทเทลไทล์ ลงนามในข้อตกลงร่วมให้บริการ iPSTAR ในประเทศไทย กับบริษัท สามารถ เทลคอม จำกัด (มหาชน) (Samart Telcom Plc.) Samart Telcom เป็นผู้ให้บริการ VSAT รายใหญ่และเป็นบริษัทในเครือของบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทชั้นนำในธุรกิจสื่อสารครบวงจร เดิม Samart Telcom เป็นพันธมิตรที่ใช้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม นายพรชัย กรัยวิเชียร กรรมการผู้จัดการ Samart Telcom เปิดเผยว่า "ปัจจุบันการให้บริการ VSAT มีการแข่งขันสูงมากทั้งเรื่องเทคโนโลยีและราคา โดยเฉพาะเทคโนโลยีแบบเดิมๆ ซึ่งมีต้นทุนสูงแต่ไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมความต้องการใช้งานของลูกค้าได้ อีกทั้งหลายๆ องค์กรมีการใช้งานเครือข่ายสื่อสารแบบ Bandwidth on Demand และ Transactional มากขึ้น และยังมีการใช้งานร่วมกันของเครือข่าย Internet และ Intranet เพิ่มขึ้น บริษัทฯ จึงเร่งพัฒนาธุรกิจ โดยมองหาเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองและรองรับการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบและมีความยืดหยุ่นสูง พร้อมทั้งสามารถแข่งขันได้โดยเฉพาะด้านราคาและ เทคโนโลยีเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งเทคโนโลยี iPSTAR มีจุดเด่นที่สามารถรับและส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงมาก และยังสามารถเพิ่มการใช้งานจาก Internet ไปเป็นแบบ Intranet ได้ทันที โดยมีค่าเช่าช่องสัญญาณและอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณราคาต่ำ บริษัทฯ จึงมั่นใจว่าจะได้เปรียบเมื่อแข่งขันในตลาดและสามารถเติมช่องว่างรองรับความต้องการใช้งานของลูกค้าในหลากหลายรูปแบบได้"
5. บมจ.ชินแซทเทลไลท์ ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับโครงการเครือข่ายเพื่อการศึกษาแห่งชาติหรือ EdNet (National Education Network of Thailand) ใช้เทคโนโลยี iPSTAR เพื่อสร้างเครือข่ายและให้บริการแพลทฟอร์ม (Platform) เนื้อหาข้อมูลการศึกษาการเรียนการสอนระดับประเทศ และเชื่อมโยงเครือข่าย โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาฯ และทบวงมหาวิทยาลัย เร่งเดินหน้าโครงการนำร่องติดตั้งอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ iPSTAR ในโรงเรียนทั่วประเทศจำนวน 1,082 แห่ง หวังขยายผลให้ถึงประมาณ 40,000 โรงเรียนทั่วประเทศภายในปี 2548 ดร.ธนากร อ้วนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย คณะกรรมการสนับสนุนโครงการเครือข่ายเพื่อการศึกษา EdNet เปิดเผย "EdNet ร่วมกับ iPSTAR เพื่อการสร้างและให้บริการ Platform และเครือข่ายด้านการศึกษาของชาติ เนื่องจากเทคโนโลยี iPSTAR สามารถตอบสนองการใช้งานด้านการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเรียนการสอนทางไกลแบบโต้ตอบกันได้ทันทีระหว่างผู้เรียนและผู้สอน (Interactive) ผู้ใช้สามารถเลือกและค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ทันที (on demand) และเทคโนโลยี iPSTAR ยังเอื้อให้การกระจายเนื้อหาสู่หลายจุดพร้อมกัน (Multicast) นอกจากนี้เทคโนโลยี iPSTAR ยังมีค่าช่องสัญญาณและอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณซึ่งมีขนาดเล็กและราคาต่ำ สามารถดำเนินการได้ทันทีไม่ว่าจุดรับสัญญาณอยู่ที่ใด"
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ฝ่ายสื่อสารการตลาด บมจ.ชินแซทเทลไลท์ โทร. 591-0736-49 ต่อ 428-429 โทรสาร. 591-0714 อีเมล์ : [email protected] จบ--
-สส-