สภากทม. แถลง "จะทำอะไรให้ประชาชน"

อังคาร ๐๖ สิงหาคม ๒๐๐๒ ๑๐:๓๘
กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (5 ส.ค. 45) เวลา 11.00 น. นายสามารถ มะลูลีม ประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสมชาย เอี่ยมมงคลสกุล รองประธานสภากทม. คนที่ 1 นายชนินทร์ รุ่งแสง รองประธานสภากทม.คนที่ 2 นายแก้ว แห้วสันตติ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2546 ประธานคณะกรรมการสามัญประจำสภากทม. ทั้ง 9 คณะ และ น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว "พบกันจันทร์ละหน คนกับข่าว ครั้งที่ 54" เรื่อง แนวทางการดำเนินงานของสภากรุงเทพมหานครชุดปัจจุบัน
งบ 27,000 ล้านบาทจะคืนสู่ประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
นายแก้ว แห้วสันตติ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ปี 2546 เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายฯ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากสภากทม. จำนวน 31 คน ตัวแทนจากฝ่ายบริหาร จำนวน 14 คน ร่วมพิจารณากลั่นกรองงบประมาณจำนวน 27,000 ล้านบาท ที่หน่วยงานต่างๆ ของกทม. เสนอขอมา โดยมุ่งที่จะให้งบประมาณกลับสู่ประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถูกต้อง และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ จะซักถามและฟังคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เสนอของบมาถึงเหตุผลความจำเป็นในการใช้งบตามรายการ หรือโครงการต่างๆ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ก่อนจะพิจารณาให้ผ่าน หรือตัดทอน หรือเพิ่มเติมงบประมาณตามความเหมาะสม พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตในการใช้จ่ายงบประมาณแก่หน่วยงานนั้นๆ ด้วย
ประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการฯ จะตั้งคณะอนุกรรมการวิสามัญฯ จำนวน 22 คณะ ลงไปดูความเหมาะสมและความจำเป็นของการใช้งบประมาณในพื้นที่จริง โดยเฉพาะงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างตามโครงการต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ หากเห็นว่าจำเป็นเร่งด่วนก็พิจารณาผ่านงบประมาณและเร่งรัดให้ดำเนินการ แต่หากยังไม่จำเป็น หรือมีปัญหาในการดำเนินการควรชะลอไว้ก่อน ก็จะพิจารณาให้นำงบประมาณไปใช้ในโครงการหรือหน่วยงานอื่นที่มีความจำเป็นมากกว่า ทั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ จะใช้เวลาพิจารณางบประมาณปี 2546 เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาขอความเห็นชอบจากสภากทม เพื่อประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต่อไป
ติดตามงบที่ขอไปแล้วต้องใช้ให้เกิดประโยชน์
นายสุธา นิติภานนท์ ประธานคณะกรรมการนโยบายและติดตามผลงานงบประมาณรายจ่ายประจำปี กล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนวางใจว่าหลังจากที่สภากทม.ได้อนุมัติงบประมาณไปแล้ว จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด คณะกรรมการฯ จะเป็นผู้ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณและเร่งรัดให้เป็นไปตามที่หน่วยงานเสนอของบไว้ ผลักดันให้หน่วยงานเร่งก่อหนี้งานให้ได้ภายในไตรมาสแรกๆ ของปีงบประมาณ เพื่อจะได้ไม่ต้องรีบร้อนก่อหนี้ในไตรมาสสุดท้ายซึ่งอาจทำให้ได้เนื้องานหยาบมีข้อบกพร่อง หากมีรายการใดล่าช้าหรือไม่สามารถใช้จ่ายตามที่ตั้งงบประมาณไว้จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ในงบประมาณส่วนนั้น
สำหรับงานหลักที่คณะกรรมการฯ จะต้องติดตาม ได้แก่ นโยบายและการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบกับชาวกทม. ส่วนใหญ่ อาทิ โครงการด้านระบบขนส่งมวลชน การบริการทางการแพทย์ อนามัย การรักษาสิ่งแวดล้อม การศึกษา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยให้ดำเนินการตามงบประมาณที่ขอไว้ และสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานครฉบับที่ 6 ตลอดจนระเบียบ กฎหมาย ข้อบัญญัติต่างๆ เช่น ด้านการศึกษาจะต้องดำเนินการสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ หากพิจารณาเห็นว่าไม่สอดคล้องทางคณะกรรมการฯ จะตั้งขอสังเกต พร้อมทั้งให้แนวเสนอแนะกับฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขสำหรับการตั้งของบประมาณในปีถัดไปมิให้เกิดข้อบกพร่อง
เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้-เพิ่มรายรับให้กทม.
นายสุทธิชัย วีระกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการการเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มีหน้าที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องต่างๆ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกทม. ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การคลัง งบประมาณ การจัดเก็บรายได้ การพัฒนาที่ดิน การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร การพัฒนากิจการการตลาด ตลอดจนสวัสดิการต่างๆ ของข้าราชการและลูกจ้างของกทม. เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อฝ่ายบริหารแล้วรายงานต่อสภากทม.
ในปีนี้กทม. ตั้งงบประมาณไว้สูงขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยประมาณการจากรายรับที่คาดว่าจะสามารถเพิ่มขึ้น ดังนั้นคณะกรรมการฯ จะติดตามการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของกทม. โดยจะผลักดันให้เกิดการขยายฐานการจัดเก็บภาษีให้มากที่สุด ทั้งนี้คณะกรรมการฯ จะเสนอให้กทม. พิจารณาสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ ซึ่งเป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับ 6 ลงมานอกเหนือจากการโยกย้ายในระดับหัวหน้าฝ่าย ให้หมุนเวียนพื้นที่เขตรับผิดชอบ และพิจารณาจัดสรรกำลังคนเพิ่ม เพื่อสามารถขยายฐานภาษีให้ได้ตามนโยบายของผู้บริหารอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯจะศึกษาและพิจารณาเรื่อง การเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ของกทม. โดยเฉพาะการเพิ่มค่าธรรมเนียมการเก็บขยะ และค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ จะศึกษาและผลักดันให้กทม.พิจารณาหาช่องทางที่จะให้กทม.มีรายรับเพิ่มและมีฐานะทางการคลังดีขึ้น โดยการนำเงินสะสมของกทม. ไปลงทุนในหุ้นของบริษัทมหาชน ซึ่งแปรรูปมาจากรัฐวิสาหกิจที่มีความมั่นคงสูง เช่น องค์การโทรศัพท์ฯ การสื่อสารแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น นอกจากนี้คณะกรรมการฯยังเห็นความสำคัญของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ สำรวจโบราณสถานในพื้นที่เขตต่างๆ เพื่อส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจในการสร้างรายได้ให้กับกทม. และชุมชน โดยจะมีการศึกษาและผลักดันเรื่องนี้ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
เร่งรัดโครงการที่ประชาชนรอคอยให้คลอดตามกำหนด
นายชัยวุฒิ จริยวิโรจน์สกุล ประธานคณะกรรมการการโยธาและสาธารณูปโภค กล่าวว่า คณะกรรมการฯ จะติดตามตรวจสอบการดำเนินการด้านการโยธาและสาธารณูปโภคของกทม.ทุกโครงการให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย หากเห็นว่าโครงการใดไม่เหมาะสม ล่าช้า เอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้รับจ้างโดยยกเว้นเงินค่าปรับในกรณีก่อสร้างล่าช้าหรือทิ้งงาน ซึ่งจะทำให้กทม. และประชาชนเสียประโยชน์ คณะกรรมการฯจะต้องตรวจสอบและให้กทม.ดำเนินการอย่างถูกต้อง ตลอดจนเร่งรัดโครงการตามนโยบายของผู้บริหารซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชน เช่น โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า BTS โครงการรถไฟฟ้ารอบกรุง การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯจะศึกษาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกทม. รวมทั้งระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโยธาและสาธารณูปโภค เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินโครงการก่อสร้างต่างๆ แล้วเสนอให้ฝ่ายบริหารดำเนินการ เช่น การเสนอให้ฝ่ายบริการแก้ไขระเบียบว่าด้วยกฎเกณฑ์ วิธีการในการพัฒนาทรัพย์สินในที่ดินของเอกชนซึ่งประชาชนใช้สอยร่วมกันเกิน 10 ปี ตลอดจนการตรวจสอบให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามระเบียบกฎหมายเรื่องป้าย และการควบคุมอาคารอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน
อุดช่องโหว่กฎหมายเพิ่มความปลอดภัย-ตั้งสายด่วนรับร้องทุกข์
นายธวัชชัย ทองสิมา ประธานคณะกรรมการการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย กล่าวว่า ปัจจุบันการดูแลด้านความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนเป็นการปฏิบัติและหาวิธีแก้ไขภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว เรียกว่า "วัวหายล้อมคอก" แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นนำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น เหตุการณ์เด็กเสียชีวิตจากไฟไหม้เครื่องเล่นรถไฟลอยฟ้า ป้ายโฆษณาล้มทับบ้านเรือนพังและมีผู้เสียชีวิต คานปูนจากการก่อสร้างหล่นทับนักศึกษา ฯลฯ คณะกรรมการฯจะต้องติดตามตรวจสอบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุอย่างไร โดยเน้นให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบกฎหมายต่างๆ อย่างเคร่งครัด ไม่ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ขณะเดียวกันก็ศึกษาช่องว่างของปัญหา และผลักดันให้มีการออกระเบียบกฎหมายที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ จะศึกษาและหาแนวทางเสริมบทบาทในงานรักษาความสงบเรียบร้อยที่เป็นประโยชน์กับ ประชาชน เช่น โครงการเทศกิจอาสาจราจร เทศกิจเป็นมิตรกับประชาชน ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่วนการดูแลแก้ไขปัญหายาเสพติดนั้น คณะกรรมการฯ จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการศึกษา การรักษาและบำบัด ตลอดจนร่วมมือชาวชุมชน เพื่อร่วมกันรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดในพื้นที่ รวมทั้งศึกษาและรวบรวมปัญหาเกี่ยวกับสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ตึกร้าง ซึ่งอาจเป็นแหล่งมั่วสุมของคนเสพยาและก่ออาชญากรรม เสนอเป็นญัตติต่อสภากทม. เพื่อให้ฝ่ายบริหารดำเนินการแก้ไข
นายธวัชชัย กล่าวด้วยว่า คณะกรรรมการฯกำลังผลักดันให้มีการตั้งศูนย์รับเรื่องราวรองทุกข์ของสภากทม.เป็นการถาวรขึ้น ขณะนี้คณะกรรมการฯ อยู่ระหว่างการขอติดตั้งโทรศัพท์สายด่วนตัวเลข 4 หลัก เพื่อเป็นสายด่วนให้ผู้เดือดร้อนร้องทุกข์มายังสภากทม. ซึ่งในอนาคตจะมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ แต่ในเบื้องต้นนี้ได้มีเจ้าหน้าที่เทศกิจมาประจำศูนย์วิทยุสื่อสารเพื่อประสานงานแก้ไขปัญหาแล้ว นอกจากนี้ยังกำลังพัฒนาเว็บไซต์ของสภากทม. เพื่อให้สามารถรับร้องทุกข์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้อีกทางหนึ่งด้วย
รอโครงการกำจัดขยะวิธีใหม่ๆแก้ปัญหาขยะล้นกรุง
นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา ประธานคณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันกทม. มีปัญหาในการกำจัดขยะที่เกิดขึ้นวันละ 9,400 ตัน ซึ่งสามารถรีไซเคิลได้เพียงส่วนน้อย ส่วนที่เหลือกำจัดด้วยวิธีนำไปฝังกลบซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับกทม. อย่างไรก็ดีคณะกรรมการฯ จะศึกษาและติดตามการดำเนินการกำจัดขยะด้วยวิธีการใหม่ๆ ซึ่งสภากทม.ได้ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว เช่น การใช้เทคโนโลยีชีวภาพ การใช้วิธีแบบผสมผสาน ซึ่งจะมีการกู้เงินจากเจบิค จำนวน 7,500 ล้านบาท เพื่อสร้างเตาเผาขยะ การจ้างเอกชนดำเนินการแปรรูปเป็นปุ๋ย 1,000 ตัน/วัน ตลอดจนโครงการกำจัดสิ่งปฏิกูลวันละ 600 ตัน เพื่อให้โครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์เกิดขึ้นกับกทม.และประชาชนโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็จะผลักดันให้มีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการรณรงค์ลดปริมาณขยะอย่างจริงจัง เพราะในอนาคตปริมาณขยะจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้น คณะกรรมการฯ จะติดตามและผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษทุกด้าน โดยเห็นควรให้ กทม. เพิ่มพื้นที่สีเขียวและปลูกต้นไม้เพิ่มให้มากที่สุด โดยพิจารณาที่ว่างใต้ทางด่วนและที่ดินเอกชน พร้อมทั้งแก้ไขปัญหารถควันดำ-ควันขาวอย่างจริงจัง เพื่อบำบัดมลพิษทางอากาศ เข้มงวดต่อสิ่งที่สร้างมลพิษทางเสียง เช่น รถจักรยานยนต์ สถานประกอบการ ออกตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการ ร้านอาหาร ให้มีบ่อดักไขมันและบำบัดน้ำเสียก่อนทิ้งลงท่อของ กทม. เพื่อป้องกันมลพิษทางน้ำ โดยจะมีการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร มาบังคับใช้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ทางคณะกรรมการจะมีการผลักดันให้กทม.จัดระเบียบป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทัศนียภาพ ทั้งนี้การติดตามตรวจสอบนั้นจะมีคณะอนุกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อมลงไปดูในพื้นที่จริง หากพบว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังที่กล่าวมาจะถือว่าละเลยหน้าที่
เงินงบประมาณต้องลงมาสร้างโอกาสให้เด็กกทม.ได้รับการศึกษาทั่วถึงและทัดเทียม
นายกวี ณ ลำปาง รองประธานคณะกรรมการการศึกษาและพัฒนาชุมชน กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มุ่งให้เด็กกทม. มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และคุณภาพทัดเทียม โดยจะผลักดันให้มีโรงเรียนขยายโอกาสในระดับ ม.1 - ม.3 เพิ่มขึ้นในสังกัดกทม. อย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเด็กโรงเรียนกทม. ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยเมื่อจบ ป.6 ไปแล้วไม่มีโอกาสเรียนต่อ หากแต่ละพื้นที่เขตมีโรงเรียนขยายโอกาสมารองรับจะเป็นสร้างโอกาสที่ให้กับเด็ก รวมทั้งและปรับปรุงห้องเรียนที่ทรุดโทรม และสร้างอาคารเรียนรองรับนักเรียนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้กทม. มีศักยภาพที่จะดำเนินการได้ โดยการนำงบประมาณในโครงการที่ยังไม่มีความจำเป็นมาใช้ ขณะเดียวกันกทม. จะต้องพัฒนามาตรฐานการศึกษาของทั้ง 431 โรงเรียนให้เทียบเท่าหรือเหนือกว่าโรงเรียนเอกชน พัฒนาคุณภาพครูและสร้างขวัญกำลังใจให้ครูทำงานได้อย่างมีคุณภาพ
ส่วนด้านการพัฒนาชุมชนนั้น ทางคณะกรรมการฯต้องการผลักดันให้ฝ่ายบริหารเห็นความสำคัญของการอบรมครูให้มีทักษะในการดูแลเด็กเล็ก รวมทั้งพิจารณาทบทวนบทบาทหน้าที่กรรมการชุมชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการเสนอของบประมาณ ชุมชนควรมีส่วนร่วมในการแสดงปัญหาที่อยากให้กทม. เข้าไปแก้ไขและเสนอของบประมาณมา ไม่ใช่ให้ทางราชการคิดฝ่ายเดียวว่าจะจัดสรรงบประมาณให้ชุมชนแก้ไขอะไร
ตั้งเป้าชาวชุมชนได้ตรวจสุขภาพฟรีปีละครั้ง
นายการุณ โหสกุล ประธานคณะกรรมการการสาธารณสุข สวัสดิการสังคม และการกีฬา กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้มีเป้าหมายที่จะติดตามและผลักดันให้มีการสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรให้แก่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของกทม. ให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ริเริ่มให้มีการประชุมคณะกรรมการฯสัญจรผลัดเปลี่ยนไปตามเขตและชุมชนต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชน ภาคประชาชนมีส่วนร่วมเสนอแนวคิดและสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและรวดเร็ว นอกจากนี้ จะมีการเร่งรัดให้มีศูนย์นันทนาการและศูนย์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสตามชุมชนต่างๆ เพื่อป้องกันและตัดโอกาสไม่ให้กลุ่มคนเหล่านั้นถูกชักจูงไปในวงจรของอาชญากรรม ยาเสพติด และสิ่งผิดกฎมายอื่นๆ พร้อมทั้งประสานขอความร่วมมือไปยังทุกส่วนของสังคมเพื่อช่วยสนับสนุนงบประมาณ สถานที่ อุปกรณ์การกีฬา ให้แก่เยาวชนกทม.ในชุมชนต่างๆ มากที่สุด
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯเห็นว่าควรพิจารณาผลักดันให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการรักษาสุขภาพ โดยกทม.จะต้องรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างจริงจัง ในการบริโภคอาหาร การทำงานและการออกกำลังกาย โดยหันมาสนใจเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกัน กทม.จะต้องจัดระบบบริการสาธารณสุขแบบเชิงรุก ด้วยการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปตามชุมชนต่างๆ อย่างทั่วถึง โดยวางเป้าหมายไว้ว่า ในแต่ละปีชาวกรุงเทพควรได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อย 1 ครั้ง
ปรับรูปแบบโครงการสภาบ้านพี่เมืองน้องให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
นายธนา ชีรวินิจ ประธานคณะกรรมการกิจการสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และรับทราบถึงการทำงานของสภากทม.มากยิ่งขึ้น คณะกรรมการกิจการสภากทม.จึงเสนอขอให้คณะกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี แปรญัตติจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานของสภากทม. ให้ประชาชนทราบ ขณะเดียวกันก็จะสานต่อโครงการสภามหานครอาเซียน และโครงการสภาบ้านพี่เมืองน้อง โดยจะพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการใหม่ ให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งนี้การแลกเปลี่ยนระหว่างสภาฯแต่ละครั้งจะต้องมีหัวข้อชัดเจนว่าจะแลกเปลี่ยนกันเรื่องอะไร และทำอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาจริง
สำหรับการเพิ่มศักยภาพของสมาชิกนั้น คณะกรรมการฯ จะดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการสัมมนาให้ความรู้สมาชิกทั้งใหม่และเก่า เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของกทม. และบทบาทของ ส.ก. เองในการทำงาน 4 ปี ซึ่งต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์ในการประชุมนั้น ทางสำนักงานเลขานุการสภากทม. จะเป็นผู้ประสานเชิญเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานมาชี้แจงประเด็นต่างๆหากเชิญแล้วไม่มาโดยไม่มีเหตุผลอันควร จะต้องมีการสอบสวน และมีมาตรการดำเนินการ เช่น แจ้งผู้ว่าฯกทม. หรืออภิปรายในสภากทม. ตลอดจนติดตามข้อเสนอแนะและข้อสังเกตต่างๆ ที่สภากทม.ได้เห็นชอบให้ฝ่ายบริหารดำเนินการ
สภาฯ ชุดใหม่มุ่งสร้างความเข้าใจกับประชาชน
ด้านนางสาวอรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร กล่าวในตอนท้ายว่า สภากทม. มีเรื่องที่จะประชาสัมพันธ์ ชี้แจง สร้างความเข้าใจกับประชาชนอยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านนิติบัญญัติ การพิจารณางบประมาณ และการติดตามตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งคณะทำงานของสภากทม.ชุดปัจจุบันจะมีการรายงานให้ประชาชนทราบถึงการดำเนินงานของสภากทม.อย่างต่อเนื่อง โดยตนจะเป็นผู้ประสานกับคณะกรรมการสามัญประจำสภากทม. ทั้ง 9 คณะ รวมทั้งจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในกรณีที่มีญัตติสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ หรือมีการตราข้อบัญญัติใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบกับประชาชน โดยสภากทม. กำหนดแนวนโยบายในการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 4 ปี ไว้ 6 ประการ คือ 1. สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกรุงเทพมหานครกับประชาชน โดยการประชาสัมพันธ์งานและบทบาทหน้าที่ของ ส.ก. ให้ประชาชนทราบ 2. ให้ความร่วมมือกับฝ่ายบริหารในการบริหารงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวกทม. และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้านต่างๆ 3. สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศกับสภามหานครในประเทศอื่นๆ ตามโครงการสภาบ้านพี่เมืองน้อง และโครงการสภามหานครอาเซียน โดยการตั้งสำนักงานสภามหานครอาเซียนขึ้น 4. ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกทม. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และกทม. 5. จัดตั้งสโมสรสภากรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ระหว่างอดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กับสมาชิกสภากรุงเทพมหานครปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนางานของสภากทม. 6. ประสานความร่วมมือหน่วยงานภายในและภายนอก เพื่อการเข้าถึงปัญหาของประชาชนมากที่สุด--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม