กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--สภากาชาดไทย
"ธนาคารเลือดจากรก" (Cord Blood Bank)
ผศ.นพ.ปรีดา วาณิชยเศรษฐกุล
อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทนำ
การปลูกถ่ายเลือดจากรก (Cord blood transplantation) เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เนื่องจาก Cord blood นั้นได้รับการวิจัยทางการแพทย์แล้วว่าอุดมไปด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (hematopoietic stem cells) ซึ่งก็คือเซลล์พื้นฐานของเม็ดโลหิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเม็ดโลหิตแดง เม็ดโลหิตขาว หรือเกล็ดเลือด เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต(Stem Cell) เหล่านี้ปรกติดำรงอยู่ในไขกระดูก มีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนหรือสร้างตัวเองได้ใหม่ (Self renewal property) และมีความสามารถเจริญเติบโตเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ (Differentiation) ที่แก่ตัวมากขึ้น (Maturation) ได้ แพทย์จึงสามารถนำ cord blood มาใช้ทดแทนเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต(Stem Cell) หรือไขกระดูก (bone marrow) จากผู้บริจาคเพื่อการปลูกถ่ายแก่ผู้ป่วยได้
เลือดจากรก เป็นแหล่งที่มีการนำมาใช้มากขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเพื่อปลูกถ่ายแก่ผู้ป่วยเด็กหรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย เป็นการนำสิ่งที่เคยถูกทิ้งไปหลังจากเด็กทารกแรกเกิดคลอดมาทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง การเก็บเลือดจากรกนี้ไม่มีอันตรายต่อทารกแรกเกิด เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกถ่ายไขกระดูก ข้อดีของการปลูกถ่ายด้วยเลือดจากรกคือการปลูกถ่ายติดสำเร็จได้โดยใช้จำนวนเซลล์ต้นกำเนิดที่น้อยกว่า การเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่า Graft-versus-Host disease เกิดน้อยและอาการรุนแรงน้อยกว่า มีความพร้อมในการนำเลือดจากรกมาใช้ได้ตามเวลา แต่ข้อจำกัดคือ มักจะมีปริมาตรของโลหิตหรือจำนวนเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่เก็บได้น้อย อาจจะไม่เพียงพอที่จะปลูกถ่ายในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากหรือผู้ใหญ่ และเป็นการเก็บได้แค่ครั้งเดียว (one-time single collection) ไม่สามารถเก็บเลือดจากรกซ้ำอีกในทารกคนเดิม
นับตั้งแต่มีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากเลือดสายสะดือและรก (Placental and umbilical cord blood stem cell transplantation) สำเร็จเป็นครั้งแรกในผู้ป่วยเด็กอายุ 5 ปีที่ป่วยเป็น Fanconi anemia เมื่อปี ค.ศ. 1988 โดยใช้เลือดจากรกของน้องที่มี HLA-matching จากนั้น หลายๆสถาบันก็เริ่มจัดตั้งระบบการเก็บ cord blood โดยเฉพาะจาก sibling หรือ relative ในครอบครัวของเด็กที่ป่วยด้วยโรคที่น่าจะรักษาให้หายขาดได้โดยการปลูกถ่าย stem cells ต่อมา มีการขยายและพัฒนาระบบการจัดเก็บในรูปของ cord blood banking สำหรับทั้ง related และ unrelated donors เพิ่มขึ้น จึงมีการปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือมากขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก จนถึงปัจจุบัน ประมาณว่ามีการปลูกถ่ายไปแล้วมากกว่า 2,000 ราย สำหรับในประเทศไทย ก็มีรายงานการปลูกถ่าย related cord blood มาแล้วประมาณ 20 ราย และ การปลูกถ่าย unrelated cord blood รายแรกของประเทศ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ธนาคารเลือดจากรก (Cord Blood Banking)
ปัจจุบันนี้ หลายๆประเทศทั่วโลกได้มีการจัดตั้ง Cord blood bank ขึ้นแล้ว เพื่อประโยชน์ในการเป็น stem cell donor pool สำหรับ unrelated cord blood transplantation และยังมีการรวมกลุ่มเพื่อประสานงานกัน แลกเปลี่ยนข้อมูล พัฒนาปรับปรุงหน่วยงานให้มีมาตรฐานสูงขึ้นทัดเทียมกัน และส่งต่อ cord blood unit ไปให้แก่ผู้ป่วยที่อยู่ในต่างโรงพยาบาลหรือต่างประเทศ
ในประเทศไทย ได้เริ่มจัดตั้งธนาคารเก็บเลือดจากรก จากทารกแรกเกิดที่มารดายินดีบริจาค (National Cord Blood Bank) โดยหน่วยงานของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ประสานงานกับภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ขณะนี้ กำลังศึกษาวิจัยวิธีการเก็บที่เหมาะสม และวิเคราะห์คุณภาพของ cord blood ที่เก็บไว้ มีการเก็บรวบรวม cord blood unit ไว้ได้กว่า 50 ยูนิตแล้ว
กระบวนการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากรก
ก่อนอื่นต้องมีเอกสารเซ็นชื่อยืนยันจากสตรีที่ตั้งครรภ์ว่ายินดีบริจาคเลือดจากสายสะดือโดยสมัครใจ ไม่ได้รับสิ่งใดตอบแทน การเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต คือการเก็บเลือดโดยวิธีปราศจากเชื้อโรค จากเส้นโลหิตดำของสายสะดือและรกของทารกแรกเกิดที่ได้รับการผูกและตัดสายสะดือแล้ว ส่งทารกให้กุมารแพทย์หรือสูติกาดูแลเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การเก็บโลหิตนี้ย่อมไม่มีอันตรายต่อทารกเลย จากนั้นใช้เข็มของ Standard blood donor set แทงผ่านเส้นเลือดดำของสายสะดือให้เลือดไหลตามแรงโน้มถ่วงผ่านเข้าไปในถุงที่มีน้ำยากันเลือดแข็งตัว และสามารถเก็บโลหิตเพิ่มเติมได้อีกโดยการฉีดน้ำเกลือที่มีสารกันโลหิตแข็งตัวเข้าทางเส้นโลหิตแดงอย่างปราศจากเชื้อ เพื่อไปชะล้างโลหิตที่ค้างอยู่ในรกให้ออกมาและดูดทางเส้นโลหิตดำได้มากขึ้น ปริมาณโลหิตที่เก็บได้มีตั้งแต่ 40-240 ml (เฉลี่ย 100 ml) ขึ้นกับประสบการณ์ความชำนาญของผู้เก็บและวิธีการคลอด การเก็บเลือดจากรกก่อนรกคลอดมักจะได้ปริมาณมากกว่าเก็บหลังจากรกคลอด เชื่อว่า การหดรัดตัวของมดลูกเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยรีดโลหิตที่ค้างอยู่ในรกออกมา ยิ่งเก็บได้โลหิตปริมาณมากเท่าใด จะยิ่งได้จำนวนเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตมากเท่านั้น เมื่อเก็บเสร็จแล้ว โลหิตนั้นจะถูกแบ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อเพาะเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราว่ามีการปนเปื้อนหรือไม่ อีกทั้งต้องส่งตรวจคัดกรองเชื้อโรคที่สำคัญ อาทิ HIV, ตับอักเสบ บี, ซี, CMV และอื่นๆ และตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม เช่นธาลัสซีเมีย และอื่นๆ ด้วย เลือดจากรกยูนิตที่มีปัญหาจะถูกคัดออกและห้ามใช้ ส่วนยูนิตที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานจะได้รับการตรวจจำนวนเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หมู่โลหิต และชนิดของ HLA จากนั้นจะผ่านกระบวนการเตรียมและแช่แข็งไว้ในความเย็นจัด (cryopreservation) ในไนโตรเจนเหลว เลือดจากรกสามารถถูกเก็บไว้ในธนาคารเลือดจากรกได้นานหลายปีก่อนจะนำกลับมาใช้รักษาผู้ป่วยด้วยการปลูกถ่าย ในต่างประเทศมีรายงานว่าเก็บไว้ได้นานถึง 15 ปีแล้วยังนำมาใช้ได้
โรคต่อไปนี้ มีรายงานแล้วว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยวิธีการปลูกถ่ายเลือดจากรก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเด็กหรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย
โรคมะเร็ง
Acute lymphoblastic leukemia
Acute myeloid leukemia
Chronic myeloid leukemia
Common variable immunodeficiency-myelodysplastic syndrome
Hodgkin's disease
Juvenile myelomonocytic leukemia
Myelodysplastic syndrome
Neuroblastoma
Non-Hodgkin lymphoma
โรคอื่นๆที่ไม่ใช่มะเร็ง
Adrenoleukodystrophy
Amegakaryocytic thrombocytopenia
Bare-lymphocyte syndrome
Blackfan-Diamond anemia
Dyskeratosis congenita
Familial erythrophagocytic lymphohistiocytosis
Fanconi anemia
Globoid cell leukodystrophy
Gunther disease
Hurler syndrome
Hunter syndrome
Kostmann syndrome
Langerhans cell histiocytosis
Lesch-Nyhan disease
Leukocyte adhesion defect
Neuronal ceroid lipofuscinosis
Osteopetrosis
Severe aplastic anemia
Severe combined immunodeficiency
Sickle cell disease
Thalassemia major
Wiskott-Aldrich syndrome
X-linked lymphoproliferative disorder-- จบ--
-นห-