กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2545 เวลา 9.00 น. ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นประธานในการเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ณ โรงแรมเจริญธานีปริ๊นเซส จังหวัดขอนแก่น เพื่อระดมความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่มีต่อยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ฝ่ายการเมือง นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เกษตรกร องค์กรเกษตรกร ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น โดยได้ร่วมกันพิจารณายุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ด้านได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจและพัฒนาภูมิภาค ยุทธศาสตร์ด้านการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ยุทธศาสตร์ด้านการปรับปรุงกฎหมายและกฏระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนา ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมอย่างเป็นธรรม ยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยการดำรงชีวิต และยุทธศาสตร์ด้านการปรับปรุงระบบบริหารของภาครัฐ ซึ่งในภาคบ่ายมีการแบ่งเป็นกลุ่มประชุมย่อย 3 กลุ่ม คือ อีสานเหนือ อีสานกลาง และอีสานใต้ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นประธานในการปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นชอบกับร่างยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือในแต่ละประเด็นตามอนุภูมิภาค ดังนี้
สำหรับกลุ่มอีสานเหนือ ที่ประชุมมีความคิดเห็นว่า เกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่นำร่องนั้น จะต้องเป็นพื้นที่นำร่องที่มีศักยภาพและทุนทางสังคม (ผู้นำชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น รากฐานทางวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ) มีองค์กรท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาที่เข้มแข็ง และมีปัญหาความยากจนรุนแรงและมีปัญหาหลากหลาย โดยคัดเลือกให้จังหวัดหนองบัวลำภูเป็นจังหวัดพื้นที่นำร่อง ในด้านการบริหารนั้นในระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับอำเภอควรมีการสนับสนุนการทำแผนปฏิบัติการและแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ส่วนระดับตำบลและระดับหมู่บ้าน ควรมีการกำหนดคณะกรรมการจากภาครัฐและนอกภาครัฐ (NGOs ชุมชน นักวิชาการ)ให้มีสัดส่วนเท่า ๆ กัน โดยให้ NGOs และส่วนราชการเป็นผู้สนับสนุนกระบวนการจัดทำแผน สถาบันการศึกษา เป็นพี่เลี้ยงในการจัดทำแผน โดยให้ชุมชนเป็นผู้มีบทบาทในการจัดทำแผนเอง
ส่วนข้อคิดเห็นของกลุ่มอีสานกลางนั้น เห็นด้วยกับการแปลงยุทธศาสตร์ ฯ ไปสู่การปฏิบัติ หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่นำร่อง รูปแบบองค์กรบริหารและอำนาจหน้าที่ของกรรมการ และเสนอว่ากระบวนการแปลงยุทธ-ศาสตร์ไปสู่แผนปฏิบัติควรใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยให้คนจนมีส่วนร่วมในการเสนอแนะกระบวนการแปลงยุทธศาสตร์ในการมองปัญหาและการจัดการความยากจนแบบองค์รวม (ในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการสร้างโอกาส) และเน้นการแปลงยุทธศาสตร์ที่สะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ การปรับปรุงกฎหมาย การปรับบทบาทองค์กรภาครัฐและชุมชน เพื่อก่อให้เกิดการทำงานในลักษณะภาคีในการพัฒนา โดยเน้นว่าองค์กรในกำกับดูแลนั้น ควรจะใช้รูปแบบคณะกรรมการโดยมีองค์กรประชาชนเป็นองค์กรหลัก และมีสถาบันการศึกษาเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการแปลงยุทธศาสตร์โดยภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน และอำนวยความสะดวกเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการจะมีหน้าที่ในการกำกับดูแลและให้การสนับสนุนการดำเนินงาน ประสานการทำงานให้เชื่อมโยงกับคณะกรรมการส่วนกลาง รวมไปถึงการติดตามประเมินผล และควรมีการเพิ่มเติมคณะกรรมการ คณะทำงานตั้งแต่รากหญ้าถึงระดับนโยบายโดยให้องค์กรประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกระดับ และมีความคิดเห็นต่อเกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องว่าพื้นที่นำร่องควรมีศักยภาพและทุนทางสังคม (ผู้นำชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น รากฐานทางวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ) เป็นพื้นที่ที่มีองค์กรท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาที่เข้มแข็ง มีปัญหาความยากจนรุนแรงและมีปัญหาหลากหลาย และเป็นพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สะดวกเพื่อการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการศึกษาดูงานเพื่อขยายผลในระยะต่อไป
สำหรับกลุ่มพื้นที่อีสานใต้เสนอว่ากระบวนการแปลงยุทธศาสตร์สู่แผนปฏิบัติการนั้น ชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดวางแผนด้วยตนเอง โดยราชการ/สถาบันสนับสนุนในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชน โดยการมีวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุของความยากจน วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรคและศักยภาพของชุมชน ซึ่งการจัดทำแผนจะต้องเน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และการพึ่งพาตนเองของชุมชน นอกจากนี้จะต้องมีองค์กรชุมชนเป็นแกนนำ และมีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 6 เดือน ส่วนกลไกในการกำกับดูแลนั้น ได้เสนอให้มีกรรมการระดับอนุภูมิภาคของอีสานใต้ ทำหน้าที่ในการศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาของพื้นที่ และประสานงานระหว่างพื้นที่และระดับนโยบาย โดยให้มีกรรมการพหุภาคีระดับจังหวัด ในสัดส่วนของภาคราชการต่อสถาบันการศึกษาต่อชุมชน = 1:1:2 (จำนวนขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด) และให้มีการจัดเวทีประชาคมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับพื้นที่เพื่อเสนอแผนปฏิบัติการต่อกรรมการระดับจังหวัด และได้กำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่นำร่องว่า ควรเป็นพื้นที่ที่มีความยากจนมากที่สุด โดยพิจารณาจากรายได้ มีความหลากหลายของปัญหาที่ชัดเจน มีองค์กรชุมชนเข้มแข็ง โดยดำเนินการในพื้นที่นำร่อง ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงเครือข่ายกับพื้นที่อื่น ๆ โดยผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายจังหวัด
สำหรับผลของการประชุมเชิงปฏิบัติการยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือและแนวทางการแปลงแผนยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่แผนปฏิบัติการ รวมทั้งพิจารณาจังหวัดนำร่องเพื่อทำแผนปฏิบัติการ ซึ่งจะเสนอเป็นนโยบายในการดำเนินการแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนส่งผลให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรต่อไป--จบ--
-นห-