สภากทม.พาเด็กย้อนประวัติศาสตร์ราชธานี 221 ปีรัตนโกสินทร์ ปลูกสำนึกรักท้องถิ่น

พุธ ๒๓ กรกฎาคม ๒๐๐๓ ๑๓:๓๒
กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ ( 22 ก.ค.46) เวลา 08.30 น. ณ อุทยานสวนสราญรมย์ สภากรุงเทพมหานคร ร่วมกับกองประชาสัมพันธ์ กทม. จัดกิจกรรม "ย้อนประวัติศาสตร์ราชธานี 221 ปี รัตนโกสินทร์" ปลูกจิตสำนึกรักและภูมิใจในท้องถิ่นให้แก่เยาวชน 252 คน พร้อมจัด walk rally ให้เด็กๆได้สนุกสนานอย่างมีสาระ และเรียนรู้บทบาทหน้าที่ของ ส.ก. ในฐานะตัวแทนของท้องถิ่น โดยมี นายสามารถ มะลูลีม ประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสมชาย เอี่ยมมงคลสกุล รองประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม และมีนายสุรเกียรติ ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา นายพิชัย พิชญเดชะ ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ กทม. และผู้เกี่ยวข้องร่วมในพิธี
รองประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กิจกรรม "ย้อนประวัติศาสตร์ราชธานี 221 ปี รัตนโกสินทร์" ในครั้งนี้เป็นกิจกรรมตามโครงการ "ส.ก.พาน้องรักท้องถิ่น" ครั้งที่ 2 ประจำปี 2546 ซึ่งมุ่งเน้นให้เด็กๆ ได้สัมผัสและเรียนรู้ของดีที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อปลูกฝังให้มีความรัก ความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน และร่วมกันสืบทอดต่อไป สำหรับกิจกรรมในครั้งแรก ได้นำเยาวชนจากกลุ่มบูรพาและกลุ่มศรีนครินทร์ ไปสัมผัสอาชีพเกษตรกรรมของชุมชนในพื้นที่เขตหนองจอก ส่วนในครั้งนี้นำเด็กนักเรียนขยายโอกาส ระดับชั้น ม.1 - ม. 3 จากโรงเรียนสังกัด กทม. ในกลุ่มเขตรัตนโกสินทร์ และกลุ่มเจ้าพระยา จำนวน 252 คน ไปทัศนศึกษารอบสถานที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 221 ปี เป็นมรดกของชาติที่มีความงดงามทางศิลปวัฒนธรรม เป็นเอกลักษณ์เชื่อมต่อความรุ่งเรืองจากอดีตถึงปัจจุบัน อาทิ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และศาลหลักเมือง
นอกจากนี้ยังได้ปลูกฝังให้เยาวชนของกรุงเทพมหานครได้รู้จักและมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครมากขึ้น โดยจัดฐานการเรียนรู้ในลักษณะ Walk Rally ให้เด็กๆ ได้ร่วมกิจกรรมแบบกลุ่มอย่างสนุกสนาน ซึ่งแต่ ละฐานได้สอดแทรกความรู้อันเป็นประโยชน์ และเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะกรรมการสามัญประจำสภาคณะต่างๆ เช่น ด้านสาธารณสุข การเรียนรู้ความมหัศจรรย์ของระบบอวัยะร่างกายที่มีผลกระทบเป็นอันตรายเมื่อได้รับสารเสพติด วิธีการปฏิเสธเพื่อห่างไกลยาเสพติด, ด้านการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย เรียนรู้ทักษะการป้องกันตัวให้ปลอดภัยจากอาชญากรรม, ด้านพัฒนาชุมชน รู้จักภูมิปัญญาการแพทย์แผนโบราณที่มีวิธีนวดรักษาโรค การทำหัตถกรรมปั้นของจิ๋วซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เรียนรู้การอนุรักษ์พลังงานในชีวิตประจำ และด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อม การดูแลโภชนาการด้านอาหารที่ถูกหลักระมัดระวังให้ปลอดภัยจากสิ่งเจือปนในอาหาร เป็นต้น
"ความรู้เหล่านี้จะเป็นการปูพื้นฐานให้เยาวชนเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองระดับท้องถิ่น และมีความรักต่อท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งจะทำให้เยาวชนเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ พร้อมที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป" รองประธานสภา กทม.กล่าว
ด้านนายพิชัย พิชญเดชะ ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้นอกจากจะให้เยาวชนได้เรียนรู้และสัมผัสสิ่งน่าภาคภูมิใจของท้องถิ่นด้วยตนเองแล้ว ยังได้จัดให้มีการประกวดเรียงความในหัวข้อเกี่ยวข้องประโยชน์และสิ่งต่างๆ ที่เยาวชนได้รับจากกิจกรรมครั้งนี้ และการประกวดภาพถ่ายกิจกรรม หรือเหตุการณ์ประทับใจในการร่วมกิจกรรมเพื่อชิงรางวัล ทั้งนี้จะมีการนำเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเข้าชมการประชุมพิจารณางบประมาณประจำปี 2546 ที่สภากรุงเทพมหานคร และจัดพิธีมอบเกียรติบัตรและรางวัล ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ