กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--กทม.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร นายนิคม ไวยรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กทม. พลตรี บุญสืบ คชรัตน์ ผู้บัญชาการกองพันทหารราบที่ 11 และผู้แทนจากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมเดินทางไปยังโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง อำเภอแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเข้าร่วมพิธีส่งบุคคลเร่ร่อนจำนวนประมาณ 400 คน กลับสู่ภูมิลำเนาเดิม โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมอาหาร และขนมไปเลี้ยงส่งให้กำลังใจแก่บุคคลดังกล่าวให้มีความมุ่งมั่นในการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับบุคคลเร่ร่อนดังกล่าวเป็นผู้ผ่านการอบรมตามโครงการ “ชีวิตที่ดีกว่า” ที่โรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ตำรวจนครบาล จัดขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งฝึกอาชีพให้เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งทุกคนเข้าร่วมอบรมด้วยความเต็มใจ ขณะนี้ทุกคนมีสุขภาพกายและจิตดีขึ้น เป็นตัวของตัวเอง และพร้อมที่กลับไปหาครอบครัวเพื่อใช้อย่างปกติสุข โดยขอให้บุคคลเหล่านี้หาที่อยู่ที่เป็นหลักแหล่งไม่เร่ร่อนที่ไหนอีก ส่วนเรื่องการประกอบอาชีพ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดูแลจัดหางานให้
สำหรับหลักสูตรในการฝึกอบรมตามโครงการ “ชีวิตที่ดีกว่า” มุ่งเน้นการพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจ การฝึกอาชีพ ฯลฯ โดยเฉพาะการฝึกอาชีพนั้นจะพิจารณาอาชีพตามความต้องการของผู้เรียน เช่น วิชาการกัดกระจก เพ้นท์แก้ว กรอบรูปวิทยาศาสตร์ ดอกไม้ประดิษฐ์ มัดย้อม เทียนหอม จักสานจากเศษวัสดุ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร นวดแผนไทย ช่างตัดผม ช่างปูน ช่างเฟอร์นิเจอร์ เสริมสวย ทำขนม ตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น ซึ่งกรุงเทพมหานครจะดำเนินการจัดหาตลาดรองรับสินค้าที่ผลิต เพื่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างยั่งยืน ไม่กลับมาเร่ร่อนอีก
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้เริ่มดำเนินงานแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนอย่างจริงจัง ตั้งแต่กันยายน 2546 เป็นต้นมา โดยดำเนินการในลักษณะบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ตำรวจนครบาล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองทัพบก ฯลฯ โดยได้มีการสำรวจผู้เร่ร่อนจากพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต พบบุคคลเร่ร่อนทั้งสิ้น 556 คน เป็นชาย 472 คน หญิง 84 คน จากนั้นคณะแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลสำนักการแพทย์ กทม. โรงพยาบาลจังหวัดฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลเปาโลฯ (ฉะเชิงเทรา) โรงพยาบาลค่ายทหาร ได้คัดกรองบุคคลโดยตรวจสุขภาพบุคคลเร่ร่อนที่มีสุขภาพแข็งแรงอายุระหว่าง 15-50 ปี ส่งเข้าโครงการ “ชีวิตที่ดีกว่า” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ฝึกอาชีพและจัดหาอาชีพให้ รวม 207 คน เป็นชาย 169 คน เข้าโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองฉะเชิงเทรา หญิง 38 คน เข้าโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองปราจีนบุรี
ส่วนผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ที่มีสภาพร่างกายไม่อยู่ในสภาวะที่จะฝึกอาชีพได้ รวมถึงเด็ก จัดส่งต่อให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวม 206 คน เป็นชาย 179 คน หญิง 27 คน ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยทางกายและจิตจัดส่งเข้ารับการรักษาพยาบาล 50 คน เป็นชาย 32 คน หญิง 18 คน พบบุคคลต่างด้าว 2 คน ส่งตำรวจดำเนินการจัดส่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อส่งกลับประเทศ และผู้มีอาชีพเร่ร่อนยามวิกาลและไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ จัดส่งกลับภูมิลำเนาเดิม 91 คน เป็นชายทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ปัญหาคนเร่ร่อน เป็นหนึ่งในปัญหาสังคมและความยากจน 7 ประการ ที่รัฐบาลมีนโยบายให้ดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน เนื่องจากสภาพปัญหาทางสังคมและความยากจนของประชาชน ทำให้เกิดปัญหาคนเร่ร่อนและคนยากจน ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่ต้องการโอกาส การฟื้นฟู ปลดปล่อยความสามารถ และศักยภาพ--จบ--
-นห-
- ม.ค. ๒๕๖๘ ‘ผู้ว่าฯ นครพนม’ เปิดค่ายวิวัฒน์พลเมืองฯ ตั้งเป้าฟื้นฟู 5 รุ่น ‘นพ.สสจ.’บรรยายให้ข้อคิด
- ม.ค. ๒๕๖๘ โรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองกองทัพเรือ แบบพิเศษ ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ฯ เนื่องในโอกาสวันต่อต้านยาเสพติด
- ม.ค. ๒๕๖๘ โรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง กองทัพเรือ ๓ รับผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด รุ่นที่ ๑๘