กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--กทม.
ณ ห้องอเนกประสงค์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (12 ม.ค.47) เวลา 11.00 น.ในกิจกรรม “พบกัน จันทร์ละหน คนกับข่าว” ครั้งที่ 115 นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวพิธีเปิดซุ้มกาญจนาภิเษก โดยมีนางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร นายไชยยุทธ ณ นคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร และนายจิม พันธุมโกมล ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ร่วมแถลงข่าว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการที่กรุงเทพมหานครได้รับมอบหมายจากภาครัฐบาลให้ดำเนินการตกแต่งเมืองกรุงเทพมหานครให้มีความสวยงามพิเศษสุด เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหาวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 50 เมื่อปี 2539 ที่ผ่านมา ซึ่งในวาระนั้นกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินการออกแบบตกแต่งซุ้ม “เฉลิมพระเกียรติ 50 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก” ตามแนวถนนราชดำเนิน ตั้งแต่พระราชวังดุสิต จนถึงพระบรมมหาราชวัง จำนวน 7 ซุ้ม เรียกว่า ซุ้ม“เจ็ดรัตนะ” ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2539 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 รวมเป็นเวลา 249 วัน ได้รับความชื่นชมจากประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง เมื่องานฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษกผ่านมาด้วยดีแล้ว กรุงเทพมหานครจึงพิจารณาเห็นสมควร จะมีการจัดสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษกด้วยวัสดุที่สวยงามคงทนไว้เป็นการถาวร เพื่อให้พสกนิกรรุ่นหลังได้ร่วมรำลึกถึงวโรกาสอันเป็นมหามงคลที่มีการเฉลิมพระเกียรติ 50 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก และร่วม ชื่นชมในพระบารมีของพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในโลก โดยใช้ชื่อว่า “ซุ้มกาญจนาภิเษก” ซึ่งทางรัฐบาลได้เห็นชอบในรูปแบบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัยในหุ่นจำลองที่นำไปถวายให้ทอดพระเนตร จึงมีการ ก่อสร้างซุ้มดังกล่าวขึ้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2546 ด้วยงบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13.6 ล้านบาท
ซุ้มกาญจนาภิเษกนี้ได้จัดสร้างไว้ที่ถนนราชดำเนิน บริเวณเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนครขาลง (หน้าโรงแรม รัตนโกสินทร์) ซึ่งกรมศิลปากรได้ออกแบบซุ้มเป็นภาพนูนต่ำ โดยจำลองส่วนหนึ่งมาจากซุ้มหัตถีรัตนะหรือซุ้มช้างแก้ว ซึ่งทำจาก หินอ่อนซึ่งกรมทรัพยากรธรณีได้คัดเลือกมาจากแหล่งหินอ่อนที่ดีที่สุด และแกะสลักโดยช่างฝีมือดีของประเทศ ตัวช้างทำด้วยหินอ่อนก้อนเดียว ขนาด 40 ตัน แกะสลักเป็นตัวช้างขนาด 21 ตัน มีลักษณะเป็นช้างสี่เศียรขนาดเท่าช้างจริงตั้งบนแท่นสิงห์ ความสูงของ ตัวช้าง 2.80 เมตร ส่วนบนสุดเป็นกูบช้าง ทำจากหินอ่อนบุด้วยทองคำ 4 ด้าน ด้านละ 4 รูปสลับกัน ซึ่งได้อัญเชิญพระนามาภิไธย ย่อ ภปร.และพระราชลัญจกรกาญจนาภิเษกมาประดับไว้ด้วย
ส่วนฐานของซุ้มซึ่งทำจากหินอ่อนเช่นเดียวกัน มีรูปทรง 8 เหลี่ยม ซึ่งแต่ละเหลี่ยมของฐานประกอบด้วยส่วนย่อของตัวซุ้มเจ็ดรัตนะ ที่เคยจัดสร้างในปี 2539 พร้อมข้อความจารึกบุทองคำ โดยด้านที่ 1 ถึง 7 ได้จารึกชื่อซุ้มเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษกทั้ง 7 ซุ้ม พร้อมคำอธิบาย ได้แก่ ซุ้มจักกรัตนะ (จักรแก้ว) ซุ้มหัตถีรัตนะ(ช้างแก้ว) ซุ้มอัศวรัตนะ(ม้าแก้ว) ซุ้มมณีรัตนะ(มณีแก้ว) ซุ้มอิตถีรัตนะ(นางแก้ว) ซุ้มคหปติรัตนะ(คหบดีแก้ว) และซุ้มปริณายกรัตนะ (ขุนพลแก้ว) ส่วนด้านที่ 8 ของฐาน เป็นการจารึกประวัติความเป็นมาของการก่อสร้างซุ้มกาญจนาภิเษก รวมความสูงของซุ้มจากฐานถึงยอด 14.19 เมตร โดยใช้หินอ่อนทั้งสิ้น 108 ลูกบาศก์เมตร หนัก 270 ตัน แกะสลักแล้วเหลือ 132 ตัน รวมโครงสร้างอาคารองค์ซุ้มทั้งหมดหนัก 272.50 ตัน พร้อมกำแพงแก้วและระเบียงซุ้ม
การก่อสร้างซุ้มกาญจนาภิเษกได้ทำตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง ใช้เวลาก่อสร้าง 3 เดือน ซึ่งเสร็จสิ้นและปรากฏต่อสายตาประชาชนชาวไทยและทั่วโลกตั้งแต่การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อ 17-22 ตุลาคม 2546 ที่ผ่านมา และเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดซุ้มเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก ในวันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม 2547 นี้ เวลา 17.30 น. โดยได้นิมนต์พระราชาคณะ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ณ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษกด้วย--จบ--
-นห-