กทม.กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก

ศุกร์ ๓๐ มกราคม ๒๐๐๔ ๑๑:๑๐
กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.47) เวลา 11.15 น. นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในกรุงเทพมหานคร โดยมี นายตลอด จรูญรัตน์ นพ.ปิตินันท์ ณัฐรุจิโรจน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และนพ.เอี่ยม วิมุติสุนทร ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ร่วมแถลงข่าว
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันนี้ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในกรุงเทพมหานคร ได้ไปประชุมร่วมหารือกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายก รัฐมนตรี ทั้งนี้เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ปีกให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งภายหลังจากที่มีรายงานว่าพบเชื้อไข้หวัดนก (Avian Influenza) ในเขตกรุงเทพมหานคร นั้น กทม.ได้ดำเนินมาตรการโดยประกาศให้พื้นที่เขตบึงกุ่มและเขต จตุจักรและในพื้นที่รัศมี 5 กม.จากจุดที่พบเป็นเขตโรคระบาดสัตว์ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 เมื่อวันที่ 28 ม.ค.47 แต่ในประกาศดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะเป็ด ไก่ และห่าน เท่านั้นไม่ได้ควบคุมสัตว์ปีกทั้งหมด ดังนั้นในวันนี้จึงได้มีประกาศฉบับใหม่ให้ ควบคุมโรคระบาดในสัตว์ปีกทั้งหมด โดยห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกทุกชนิดโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะมีหนังสืออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์จากสัตวแพทย์ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคและทำให้โรคดังกล่าวสงบโดยเร็ว นอกจากนี้ผู้เป็นเจ้าของสัตว์ปีกในทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานครต้องมาขึ้นทะเบียนแจ้งจำนวนสัตว์ปีกในครอบครองที่สำนักงานเขต เพื่อกทม.จะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมดูแลเพื่อรอการทำลาย และพิจารณาชดเชยค่าเสียหายให้ตามที่รัฐบาลกำหนด
นพ.ประพันธ์ แจ้งรายละเอียดว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีสัตว์ปีกที่มีผู้เลี้ยงไว้ทั้งหมดประมาณ 1,600,000 ตัว ในจำนวนนี้เป็นสัตว์ปีกที่ตายเองและที่เจ้าของสมัครใจให้ทำลายไปแล้วประมาณ 1,090,000 ตัว โดยบ่ายวันนี้ (29 ม.ค.47) จะมีการทำลายสัตว์ปีกที่เขตหนองจอกอีกจำนวน 43,000 ตัว สำหรับสัตว์ปีกประเภทสวยงามหรือเพื่อการค้า อาทิ ไก่ชน ไก่แจ้ และนกสวยงามต่างๆ ในพื้นที่ควบคุมรัศมี 5 กม. จะต้องมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเขตเพื่อรอการทำลายภายใน 2 สัปดาห์นับจากวันที่ กทม.ประกาศเป็นเขตโรคระบาด หากไม่มาขึ้นทะเบียนจะมีความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้แหล่งค้าสัตว์ปีกที่อยู่ในพื้นที่ประกาศเป็นเขตโรคระบาด ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีคำสั่งปิดและห้ามจำหน่ายจนกว่าจะสามารถประกาศเป็นพื้นที่ปลอดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกได้
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กทม. ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ระดับกรุงเทพมหานคร อยู่ที่กองสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. โทร. 0 22487417 (ในเวลาราชการ) หรือ 1555 (ตลอด 24 ชั่วโมง) และศูนย์ฯ ระดับเขต ณ สำนักงานเขตพื้นที่ ทั้งนี้ในการดำเนินงานของศูนย์นั้นจะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับความคืบหน้าของสถานการณ์ รวมทั้งดำเนินแผนการป้องกันการระบาด ซึ่งทางศูนย์ฯ จะประสานงานกับปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปศุสัตว์กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก นอกจากมีหนังสืออนุญาตจากสัตวแพทย์ด้วย
อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ตลอดจนกำชับให้ทุกเขตพื้นที่ที่มีสัตว์ปีก และมูลสัตว์ปีกหมั่นทำความสะอาดด้านกายภาพเพิ่มขึ้นเพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของประชาชน--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ