กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 ม.ค.47 เวลา 11.00 น. ที่ผ่านมา นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.ปิตินันท์ ณัฐรุจิโรจน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าสถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกในกรุงเทพฯว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้ดำเนินมาตรการเข้มงวดในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับนโยบายของรัฐบาลและองค์การอนามัยโลก ในขณะเดียวกันก็พยายามให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และควบคุมการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยได้ให้สำนักงานเขตจัดตั้งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ปีก ระดับเขต 50 สำนักงานเขต ให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่มีสัตว์ปีกไว้ในครอบครองมาขึ้นทะเบียนแจ้งจำนวนสัตว์ปีกเพื่อรอการทำลาย ทั้งนี้ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีสัตว์ปีกที่มีผู้เลี้ยงไว้ จำนวนประมาณ 1.6 ล้านตัว ขณะนี้มีสัตว์ปีกที่ตายเองและเจ้าของสมัครใจให้ทำลายไปแล้ว รวมประมาณ 1,150,000 ตัว เหลืออีกประมาณ 450,000 ตัว ซึ่งกทม.ได้กำหนดมาตรการเข้มงวดห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกทุกชนิดโดยเด็ดขาดในรัศมี 50 ก.ม. ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด และกทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในส่วนของนกสวยงามหรือไก่ชน ในรัศมี 5 ก.ม. ที่พบเชื้อจะให้แจ้งขึ้นทะเบียนเพื่อรอการทำลายไว้เช่นกัน ซึ่งถ้าสัตว์ปีกนั้นมีราคาแพงและเจ้าของประสงค์จะให้ตรวจพิสูจน์เชื้อ ก็จะมีการจัดสัตวแพทย์เข้าตรวจพิสูจน์ หากพบว่ามีเชื้อจะทำลาย ทันที แต่หากตรวจไม่พบเชื้อ เจ้าของจะต้องกักสัตว์ไว้ในที่ปิด และให้สัตวแพทย์เข้าตรวจพิสูจน์เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการประกาศให้กทม.พ้นจากการเป็นเขตโรคระบาดสัตว์ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์เชื้อดังกล่าว เจ้าของสัตว์ปีกจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า สำหรับนกพิราบในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ยังไม่ได้ให้มีการดำเนินการทำลายทั้งหมดเนื่องจากตรวจไม่พบเชื้อไข้หวัดนก และจากรายงานก็ไม่ได้มีการตายของนกพิราบในจำนวนที่มากกว่าปกติ แต่หากบริเวณใดที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากมูลนก หรือฝูงนกก่อความเสียหายให้อาคารบ้านเรือน สถานที่สำคัญ เช่น วัดพระแก้ว วัดมหาธาตุ เป็นต้น จะให้เขตพิจารณาจัดเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการ ส่วนย่านที่มีฝูงนกถ่ายมูลจำนวนมากตามท้องถนน เช่น ย่านสีลม เขตบางรัก ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เขตดูแลทำความสะอาดด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ในส่วนของโรงเรียนต่างๆ ที่มีนกอยู่เป็นจำนวนมากจะจัดเจ้าหน้าที่ไปจับทำลายเพื่อป้องกันเชื้อโรคจากมูลนกที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กนักเรียน อย่างไรก็ตามการทำลายซากสัตว์นอกจากจะใช้วิธีการฝังกลบแล้ว ยังได้ขอความร่วมมือจากวัดต่างๆ ในการเผาทำลายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอีกด้วย--จบ--
-นห-