กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--แปลน พับลิชชิ่ง
สมุนไพรไทย..สุดยอดยาไทย...ที่ให้คุณค่ามหาศาล
ในการดูและและรักษาสุขภาพของเด็กและผู้ใหญ่...
คงต้องยอมรับว่า ปัจจุบันสมุนไพรไทยเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนไทยมากขึ้น ด้วยเพราะ เป็นตัวยาที่มาจากธรรมชาติ จึงมั่นใจได้ว่าปลอดภัยแน่ถ้าเข้าใจ และใช้อย่างถูกวิธี รวมทั้งราคาถูกด้วย แม้ว่าการรักษาด้วยสมุนไพรบางคนอาจคิดว่าจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน
คุณรสนา โตสิตระกูล ผู้เชี่ยวชาญการนวดตัวเด็ก และเลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวถึงการใช้สมุนไพรกับเด็กว่า สมุนไพรของเด็กคุณพ่อคุณแม่สามารถหาได้ง่ายๆ จากในครัวเรือน เช่น เวลาที่เด็กหกล้มหัวโน ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้มะนาวกับดินสอพองทาบริเวณหัวที่โน หรือเด็กเป็นหวัดเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง เด็กอาจจะมีน้ำมูกใสๆ หายใจไม่สะดวก วิธีทำให้เด็กหายใจได้สะดวกขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจจะนำหัวหอมเล็กมาบุให้แตก ห่อผ้าขาวบางแล้ววางไว้ที่หัวนอนเด็ก ซึ่งหัวหอมจะทำหน้าที่จับหวัดให้กับเด็ก ทำให้เด็กหายจากหวัดได้เร็วขึ้น หรืออีกวิธีคือทุบหัวหอมแล้วใส่ลงไปในน้ำอุ่น แล้วนำน้ำมาอาบให้กับเด็ก จะทำให้เด็กหายใจโล่ง และสบายเนื้อสบายตัว ส่วนความแตกต่างของสมุนไพรที่จะใช้ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่มีความแตกต่างกันหรือไม่นั้น ในเรื่องสรรพคุณของตัวยาก็จะไม่แตกต่างแต่จะแตกต่างกันตรงที่ปริมาณของตัวยาที่ใช้
การใช้ยาสมุนไพรกับเด็กนั้นเราสามารถใช้ได้ตั้งแต่เขายังเล็กๆ โดยไม่เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพของเด็ก แต่ในทางกลับกันการใช้ยาแผนปัจจุบันมากเกินไปกลับจะเกิดผลข้างเคียงต่อเด็กมากกว่า เพราะฉะนั้นสมุนไพรสำหรับเด็กหลายๆชนิด จึงเหมาะที่จะใช้กับเด็กทุกวัยโดยไม่เกิดผลข้างเคียง ตัวอย่างเช่น หากเด็กเกิดเจ็บคอขึ้นมา ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ใบกระเพาแดงขยี้ให้ละเอียดจนเกิดเป็นน้ำ แล้วผสมน้ำมะนาวหรือน้ำผึ้ง ผสมให้เข้ากัน แล้วนำมากวาดคอเด็ก ซึ่งสูตรนี้ใช้กันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายของเรา มีความปลอดภัยกว่าที่จะให้เด็กใช้ยาปฏิชีวนะ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่จะใช้สมุนไพรกับลูกนั้น จะต้องศึกษาหาความรู้ในการใช้สมุนไพรแต่ละชนิด ด้วย แต่โดยปกติแล้วสมุนไพรบางชนิดที่มีอยู่ในครัวหากคุณพ่อคุณแม่ได้ศึกษาหาความรู้แล้ว ก็สามารถนำมาใช้กับลูกของตนเองได้ ที่สำคัญทำให้สมุนไพรที่เป็นความรู้สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตได้รับการรักษาให้สืบทอดต่อๆ ไป เพราะความรู้หลายๆ อย่างมักจะเกิดจากการสืบทอดต่อๆ กันมาจากรุ่นคุณพ่อคุณแม่ของเรา
คุณรสนา ได้กล่าวในเรื่องการประคบหลังคลอดว่า ความสำคัญของการประคบหลังคลอดหรือการ อยู่ไฟ หรือการประคบนั้น เป็นสิ่งที่หมอไทยให้ความสำคัญเพราะเป็นการช่วยให้มดลูกของคุณแม่เข้าสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น รวมทั้งขับของเสียในร่างกายที่ยังคั่งค้างอยู่ให้หมดไป เพื่อให้สุขภาพของแม่ที่คลอดแล้วได้รับการฟื้นฟูและกลับเข้าสู่สภาพปกติโดยเร็ว รวมถึงคุณแม่ที่จะต้องให้นมลูกทำให้น้ำนมที่จะให้ลูกนั้นมีคุณภาพที่ดี มีประโยชน์ต่อลูกน้อยของเรา
ส่วนผสมของลูกประคบหลังคลอด ประกอบด้วย หัวไพล (1/2 ก.ก.) มีสรรพคุณในการแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก และลดอาการบวม, หัวขมิ้นอ้อย หัวขมิ้นชัน (อย่างละ 1 ขีด) สรรพคุณคือแก้ลม ฟกช้ำบวม เคล็ดขัดยอก รวมทั้งแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน และสมานแผลด้วย ต้นตะไคร้ (1 ขีด) แต่งกลิ่นให้หอม แก้ปวดเมื่อยและขับเหงื่อ, ผิวมะกรูด (1 ลูก) แต่งกลิ่นให้ลูกประคบหอม และทำให้ผิวหนังชุ่มชื่น, ใบมะขาม (1/2 ขีด) แก้ฟกช้ำ บวม, ใบส้มป่อย(1/2 ขีด)สรรพคุณทำให้เส้นเอ็นหย่อนในเวลาประคบ และแกเคล็ดขัดยอก, การบูร พิมเสน (อย่างละ 1 ช้อนกาแฟ) แก้ลมวิงเวียนและรักษาแผลได้, เถาเอนอ่อน (1/2 ขีด) แก้ปวดเมื่อย เส้นตึง บำรุงเส้น แต่ถ้าไม่สามารถหาสมุนไพรเหล่าได้ครบ ก็ใช้เท่าที่มี แต่ที่ห้ามขาดคือ "หัวไพล" เพราะหัวไพลจะเป็นตัวยาที่สำคัญของตำรับนี้ และควรจะใช้หัวไพลสดจะมีสรรพคุณที่ดีกว่าแห้ง นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมาแล้ว ประโยชน์ของการอบสมุนไพรหรือการประคบนั้น ยังช่วยคลายความเครียดของคุณแม่ที่ต้องอุ้มท้องถึง 9 เดือน สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการประคบ หรือการอบสมุนไพรนั้น ไม่มีข้อห้ามว่าจะต้องทำให้ช่วงเวลาไหน แต่หากจะประคบไม่ควรทำหลังจากที่รับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆหรือให้ท้องว่างจนเกินไป และไม่ควรนวดหรือประคบเกินวันละ 2 ครั้ง โดยใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีต่อครั้ง เป็นการช่วยให้กล้ามเนื้อและเส้นในร่างกายผ่อนคลาย
นอกจากการประคบ การอบสมุนไพรแล้ว สามารถทำเป็นยาอาบได้ด้วย ส่วนผสมของยาอาบ ประกอบด้วย หัวไพล ใบมะขาม ต้นตะไคร้ อย่างละประมาณ 1-2 กำมือ แต่อาจจะใช้หัวไพลมากกว่าหน่อยก็ได้ โดยนำมาต้มให้เดือด จากนั้นให้คุณแม่หาผ้าห่มผืนใหญ่ๆ มาคลุมตัว เอาหม้อที่ต้มสมุนไพรไว้ในผ้าห่ม ค่อยๆ แย้มฝาภาชนะให้ไอของน้ำสมุนไพรที่เราต้มจนเดือดระเหยออกมา อบจนหมดไอน้ำ จากนั้นให้นำน้ำสมุนไพรอุ่นๆ เทใส่ในอ่างแล้วให้ลงไปแช่ต่อ ซึ่งการแช่จะเหมาะกับคุณแม่ที่คลอดเองตามธรรมชาติ ให้ทำเช่นนี้ประมาณ 7 วัน วันละ 1-2 ครั้ง เป็นการขับเหงื่อ และทำให้รู้สึกสบาย เบาเนื้อเบาตัว และแผลหลังคลอดก็จะหายเร็วขึ้นด้วย
ความแตกต่างของคุณแม่ที่คลอดตามธรรมชาติและผ่าท้องคลอดในการอบหรือประคบสมุนไพร คือคุณแม่ที่คลอดตามธรรมชาติจะมีวิธีการที่มากกว่านี้ได้ เช่น นึ่งหม้อเกลือ แต่การนึ่งหม้อเกลือนั้นเราจะต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการนึ่งหม้อเกลือ ส่วนตำรับยาที่ให้ไปนั้นคุณแม่ที่ผ่าท้องคลอดจะต้องรอให้แผลที่ผ่าหายดีเสียก่อน
สำหรับคุณแม่ที่สนใจการประคบ การอบสมุนไพร หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมุนไพรเจ้าตัวเล็ก สามารถไปหาคำตอบได้ในงาน "รักลูก Festival 2004" ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ที่มูลนิธิสุขภาพไทยจะนำมาสาธิตนั้น เช่น จะมีการสาธิตการนวดตัวเด็ก การดูแลสุขภาพคุณแม่หลังคลอด ตำรับการดูแลความงานของคุณแม่หลังคลอด พบกับกิจกรรมดีๆ แบบนี้ได้ในระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2547 เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ Hall 1-2 ศูนย์การประชุม และแสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โสภิดา ธนสุนทรกูร (แบม)
ฐาปณีย์ ณ สงขลา (เมธ์)
จารุวรรณ ผ่องภักดี (ปุ๊ก)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท แปลน พับลิชชิ่ง จำกัด
โทรศัพท์ 0-2911-4211 ต่อ 245 330 และ 409 โทรสาร 0-2911-4291--จบ--
-รก-
- พ.ย. ๒๕๖๗ ประกวด "คุณแม่ผิวสวยกับนีเวียครีม" ครั้งที่ 3 ชิงเงินรางวัลกว่า 3 แสนบาทให้กับลูกรัก
- พ.ย. ๒๕๖๗ ผลิตภัณฑ์ครีมนีเวียครีม เชิญคุณแม่อายุ 20-45 ปี ร่วมโครงการประกวดคุณแม่ผิวสวยกับนีเวียครีม ครั้งที่ 4 ชิงรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท
- พ.ย. ๒๕๖๗ พิพิธภัณฑ์ที่เด็ก ๆ รอคอย เสร็จเรียบร้อยพร้อมเปิดให้บริการแล้ว