กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--กทม.
นายสามารถ ตันอริยกุล ผู้อำนวยการกองวิชาการ สำนักการแพทย์ กทม.เปิดเผยว่า กองวิชาการ สำนักการแพทย์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำรายงานการรักษาวัณโรคแนวทางใหม่ตามแผนงานวัณโรคแห่งชาติ โดยการรักษาผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อด้วยระบบยาระยะสั้นภายใต้การกำกับดูแล หรือสังเกตโดยตรง (DOTS)
ปัจจุบันวัณโรคเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าวัณโรคเป็นปัญหาฉุกเฉินของโลกตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ซึ่งคาดว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตจากวัณโรคประมาณ 3 ล้านคนต่อปี ดังนั้นองค์การอนามัยโลกจึงได้เสนอแนะแนวทางใหม่ในการควบคุมวัณโรค โดยการรักษาผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อด้วยระบบยาระยะสั้นภายใต้การกำกับดูแลหรือสังเกตโดยตรง (DOTS —Directly Observed Treatment Short Course) และกำหนดเป้าหมายการรักษาผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อให้มีอัตราการรักษาหายอย่างน้อยร้อยละ 85 ทั้งนี้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคโดยใช้วิธี DOTS ให้มี ประสิทธิภาพ และสามารถเพิ่มอัตราการรักษาหายให้ได้ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกและแผนงานวัณโรคแห่งชาตินั้น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความรู้ ความสามารถในการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าวเป็นอย่างดี
กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้พื้นที่หนึ่ง จึงกำหนดนโยบายให้ดำเนินการรักษาวัณโรคแนวใหม่ตามแผนงานวัณโรคแห่งชาติ โดยโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545 เป็นต้นมา ซึ่งควรจะต้องมีการทบทวนระบบการจัดทำรายงาน ดังนั้น กองวิชาการจึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การจัดทำรายงานการรักษาวัณโรคแนวทางใหม่ตามแผนงานวัณโรคแห่งชาติ โดยการรักษาผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อด้วยระบบยาระยะสั้นภายใต้การกำกับดูแล หรือสังเกตโดยตรง (DOTS) ขึ้น เพื่อให้ผู้รับผิดชอบการทำรายงานของโรงพยาบาลจัดทำรายงานอย่างถูกต้อง และเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการประสานการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานสังกัดสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และกระทรวงสาธารณสุขในด้านการควบคุมวัณโรคอย่างมีมาตรฐานสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน--จบ--
-นห-