กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทส.เปิดรับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุงระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งภาครัฐ-เอกชน ล่าสุดแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานรวม 10 คณะ ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมบูรณาการการวิเคราะห์ด้านสังคมและสุขภาพเพิ่มขึ้น เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเดือนเม.ย.นี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อครม.
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาครัฐและภาคธุรกิจต่อการปรับปรุงระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่า สืบเนื่องจากระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติหลายประการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงเห็นควรให้ดำเนินการปรับปรุงระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปรับปรุงระบบวิเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกระทรวงฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน เข้าร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน รวม 10 คณะเพื่อร่วมพิจารณา
นายประพัฒน์ กล่าวต่อว่าการทำงานของคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานมีเป้าหมายหลัก 8 ประเด็น คือ 1.ขั้นตอนกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม 2.ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นต้นและในขั้นตอนต่างๆ ในการปรับปรุงระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศ ผนวกเข้าไปกับการดำเนินการตัดสินใจของรัฐ กระบวนการมีส่วนร่วมของสาธารณชนจึงเป็นสื่อกลางสองทาง มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีกว่า
3.ความสัมพันธ์ขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะมีการปรับปรุงระบบรายชื่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมีโครงการนำร่องการมอบให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดพิจารณาโครงการบางประเภท 4.การจัดตั้งกองทุนด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งรูปแบบการบริหารจัดการกองทุนหมุนเวียนอาจเป็นกองทุนสังกัดหน่วยงานอิสระหรือกองทุนสังกัดหน่วยงานราชการ ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อใช้สนับสนุนในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและติดตามตรวจสอบ
5.องค์การมหาชนด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นหน่วยสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำกับ ตรวจสอบ และการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 6.ผู้มีสิทธิทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะได้มีการปรับปรุงกฎกระทรวงเกี่ยวกับการจดทะเบียนผู้มีสิทธิทำรายงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 7.กำหนดประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานฯให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น และ 8.บูรณาการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านสังคมและสุขภาพ
"ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้แล้ว กระทรวงฯจะมีการรับฟังความคิดเห็นในระดับภูมิภาคทั้ง 4 ภาค และจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป จากนั้นจะสรุปความคิดเห็นและกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ปรับปรุงใหม่เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป" นายประพัฒน์ กล่าวในที่สุด--จบ--
-รก-
- ๒๓ พ.ย. ไทยหารือ ญี่ปุ่น - เยอรมนี - สิงคโปร์ ในห้วงการประชุม COP29 ยกระดับความร่วมมือลดก๊าซเรือนกระจก ควบคู่การพัฒนาเทคโนโลยีการเตือนภัยล่วงหน้า
- ๒๓ พ.ย. ไทยหารือ ญี่ปุ่น - เยอรมนี - สิงคโปร์ ในห้วงการประชุม COP29 ยกระดับความร่วมมือลดก๊าซเรือนกระจก ควบคู่การพัฒนาเทคโนโลยีการเตือนภัยล่วงหน้า
- ๒๓ พ.ย. ดร.เฉลิมชัย เยี่ยมชม Thailand Pavilion ร่วมกิจกรรมคู่ขนาน COP29 พร้อมถ่ายรูปคู่ "น้องหมูเด้ง" ขวัญใจชาวโลก