กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--กทม.
กทม.เผยความคืบหน้าการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ตามนโยบายผู้ว่าฯกทม. หลายพื้นที่ดำเนินการได้น่าพอใจ หลัง 3 มีนาคมนี้ พื้นที่ใดยังมีผู้ค้าฝ่าฝืน ผู้อำนวยการเขตต้องชี้แจง ขณะเตรียมเสนอให้บชน.พิจารณากำหนดจุดผ่อนผันเพิ่มเติมอีกครั้ง
เมื่อวานนี้ (23 ก.พ.47) เวลา 11.00 น. ที่ห้องอเนกประสงค์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายพงษ์ศักดิ์ เสมสันต์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว “พบกัน จันทร์ละหน คนกับข่าว” ครั้งที่ 119 เรื่อง ความคืบหน้าการปรับปรุงความเป็นระเบียบเรียบร้อย หาบเร่-แผงลอย และการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านเทศกิจ โดยมี นายธะนะกร คุณาวุฒิ ผู้อำนวยการสำนัก เทศกิจ ร่วมแถลงข่าว
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้มีนโยบายในการดำเนินการกับผู้ค้าที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะพื้นที่ 5 จุดกวดขันพิเศษ คือ บริเวณทางข้ามถนน(ทางม้าลาย) บริเวณสะพานลอยคนเดินข้าม บริเวณป้ายจอดรถโดยสารประจำทางหรือศาลาที่พักผู้โดยสาร บริเวณทางเท้าที่มีความกว้างไม่ถึง 2 เมตร และบริเวณตู้โทรศัพท์ รวมทั้งบริเวณที่มีการร้องเรียนจากประชาชน โดยมีการจัดทำแผนตรวจการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยในพื้นที่เขตต่างๆพร้อมตั้งคณะกรรมการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของเขตอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เมื่อถึงวันที่ 3 มี.ค.47 หากพื้นที่ใดยังมีการฝ่าฝืนของผู้ค้า แสดงให้เห็นถึงความ ละเลยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ จะเชิญผู้อำนวยการเขตดังกล่าวมาชี้แจงและประเมินผลการทำงาน
ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวว่า จากการประชุมผู้บริหารสำนักและสำนักงานเขต เมื่อวันที่ 26 ม.ค.47 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีนโยบายให้ทุกสำนักงานเขตดำเนินการเกี่ยวกับผู้ค้าที่ทำการค้ารุกล้ำที่ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จัดเก็บสินค้า สัมภาระและให้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ แนวทาง และวิธีการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะพื้นที่โดยรอบป้ายจอดรถโดยสารประจำทาง สะพานลอยคนเดินข้าม ทางขึ้นลงรถไฟฟ้าบีทีเอส บริเวณทางม้าลาย รวมถึงบริเวณที่มีการร้องเรียนจากประชาชน หากฝ่าฝืนจะปรับไม่เกิน 2,000 บาท ทั้งนี้ก่อนที่ทั้ง 50 สำนักงานเขต ได้เริ่มดำเนินการอย่างเข้มงวดกับผู้ค้าที่ฝ่าฝืนตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.47 ที่ผ่านมานั้น ทุกเขตฯได้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ แนวทาง วิธีการดำเนินการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ให้ผู้ค้าและประชาชนได้รับทราบก่อนล่วงหน้าแล้ว เพื่อขอความร่วมมือในการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการทำการค้าบนบาทวิถี
ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวต่อไปว่า จากการที่ได้ติดตามตรวจสอบการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ขณะนี้พบว่าในหลายพื้นที่สามารถดำเนินการได้เป็นที่น่าพอใจ เช่น เขตพระนครได้จัดสถานที่ให้ผู้ค้าซึ่งเคยค้าอยู่บริเวณถนนดินสอเป็นจำนวนมากมาอยู่ในซอยข้างศาลาว่าการกทม. ติดคลองราชนัดดา ส่วนกรณีที่ผู้ค้าเรียกร้องขอขายต่อในช่วงกลางคืน เขตฯพิจารณาว่าจะให้ขายได้และจะติดตั้งไฟส่องสว่างให้ แต่จะต้องกำหนดเวลาขายที่แน่นอน ส่วนปัญหาผู้ค้าย่านใต้สะพานพุทธซึ่งได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีรถเข้าออกมากในช่วงกลางคืน ส่งเสียงดังเดือดร้อนรำคาญ เนื่องจากมีทางเข้าออกเพียงทางเดียวนั้น เขตพระนครได้ควบคุมดูแล โดยขอให้เอกชนเจ้าของที่ดินช่วยเปิดทางเข้าออกเพิ่มเติมเพื่อลดปัญหาดังกล่าว แต่การจะย้ายผู้ค้าย่านสะพานพุทธไปค้าขายที่อื่นหรือไม่นั้น กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยเขตพระนคร กับสน.พระราชวัง
นอกจากนี้สำนักเทศกิจมีนโยบายให้ทุกเขตนำเรื่องการขอเพิ่มเติมจุดผ่อนผันกลับไปทบทวนใหม่ โดยให้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยระดับเขต จากนั้นให้นำเสนอคณะกรรมการฯระดับกรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร สำนักเทศกิจ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ภายในเดือนเมษายน 2547 เพื่อพิจารณาและนำเสนอขอความเห็นชอบจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลให้กำหนดเป็นจุดผ่อนผันที่สามารถทำการค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้เมื่อปี 2544 กรุงเทพมหานครได้เสนอให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลพิจารณาจุดผ่อนผันเพิ่มเติม โดยมีผู้ค้าประมาณ 13,000 ราย แต่ไม่มีคำตอบยืนยันกลับมาจากบชน. เนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวผู้บังคับบัญชา ดังนั้นจึงเสนอให้มีการทบทวนกำหนดจุดผ่อนผันใหม่อีกครั้ง--จบ--
-นห-