กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--กทม.
นางอารุณี รัศมิทัต รองผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กทม. เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณมูลฝอยในเขตกรุงเทพมหานคร มีจำนวนถึงวันละ 9,500 ตัน และในจำนวนขยะทั้งหมด มีปริมาณมูลฝอยอันตรายประมาณวันละ 0.1 ตัน ซึ่งหากไม่มีการทิ้งอย่างถูกต้อง และการจัดการที่ถูกวิธี มูลฝอยอันตรายเหล่านี้ก็จะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
รองผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กล่าวว่า มูลฝอยอันตราย เช่น ขวดน้ำยาสารเคมี กระป๋องสเปรย์ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ขวดน้ำยาล้างทำความสะอาด ขวดยา ยาฆ่าแมลง ฯลฯ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม หากแยกไม่ถูกวิธี ก็จะมีผลต่อสุขภาพ และหากนำไปทำลายรวมกันโดยการฝังกลบ ก็จะก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางดินและทางน้ำ ส่งผลถึงสุขภาพของประชาชนส่วนรวม ทั้งนี้ในปัจจุบันปริมาณมูลฝอยอันตรายที่คาดการณ์ไว้เปรียบเทียบกับปริมาณมูลฝอยที่เก็บได้จริงนั้น มีมูลฝอยที่เก็บได้จริงน้อยมาก แสดงว่าขยะอันตรายถูกทิ้งรวมกับขยะอื่น ดังนั้น การที่จะรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันแยกขยะอันตรายนั้น จะต้องเร่งอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน รวมไปถึงชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบอาชีพเก็บและซื้อของเก่าที่มีเป็นจำนวนมาก ที่มักเก็บขยะอันตรายสะสมไว้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งผู้ประกอบการอาชีพนี้มีบทบาทสำคัญในการแยกขยะมูลฝอย
รองผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กล่าวในตอนท้ายว่า การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะอันตราย จะดำเนินการอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาด และเจ้าหน้าที่เทศกิจ ระดับ 1 — 6 ของสำนักงานเขต จำนวน 480 คน โดยแบ่งเป็น 4 รุ่น ๆ ละ 120 คน สำหรับรุ่นที่ 1 — 2 จะจัดอบรมในวันที่ 26 — 27 กุมภาพันธ์ 2547 ณ โรงแรมปริ๊นสตั้น พาร์ค เขตดินแดง โดยทีมวิทยากรจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งการอบรมครั้งนี้คาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร และสามารถแยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไปเพื่อกำจัดทำลายด้วยวิธีที่ถูกต้อง ต่อไป--จบ--
-นห-