กทม. พร้อมรับภารกิจด้านดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย

ศุกร์ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๔ ๐๙:๔๕
กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--กทม.
เมื่อวันที่ 25 ก.พ.47 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 5) ประจำปี 2547 นายมุดตาฝ้า หมันงะ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตอบกระทู้ถามของ นายพงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางคอแหลม เรื่อง การเตรียมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกทม.ว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้โอนภารกิจด้านดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยจากกองบังคับการตำรวจดับเพลิงมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผลตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 ในการนี้กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อรองรับภารกิจดังกล่าว โดยมีการกำหนดกรอบอัตรากำลังเป็นข้าราชการ จำนวน 1,537 อัตรา ซึ่งได้รับโอนอัตรากำลังและบุคลากร เจ้าหน้าที่ตำรวจดับเพลิงมาสังกัดกรุงเทพมหานครแล้ว จำนวน 166 นาย สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ประสงค์ขอโอนมาสังกัดกทม. จะต้องช่วยราชการเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งกทม.จะเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดสอบบรรจุ ข้าราชการใหม่ต่อไป ด้านยานพาหนะและวัสดุอุปกรณ์นั้น ได้โอนให้กรุงเทพมหานครทั้งหมด ยกเว้นเฉพาะที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงานต่อไปอย่างแท้จริงเท่านั้น ซึ่งกองบังคับการตำรวจดับเพลิงมีรถดับเพลิงและรถกู้ภัยใช้อยู่ในการดำเนินภารกิจทั้งสิ้น จำนวน 762 คัน และขอคงไว้ใช้ในภารกิจด้านการปราบปรามจราจล จำนวน 19 คัน ด้านอาคารสถานที่ กรุงเทพมหานครได้รับโอนอาคารสถานีดับเพลิง จำนวนทั้งสิ้น 34 แห่ง จากทั้งหมด 35 แห่ง
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครให้การสนับสนุนรถดับเพลิงและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆให้แก่ศูนย์ อปพร.เขต ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากการแปรญัตติของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกอบด้วย วิทยุสื่อสาร เครื่องสูบน้ำดับเพลิง ชุดผจญเพลิง และเรือ สำหรับรถดับเพลิงที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นรถบรรทุกพร้อมเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ขนาด 1 ตัน จำนวน 100 คัน รถดับเพลิงขนาดกลางจำนวน 4 คัน และรถสามล้อดับเพลิง จำนวน 5 คัน ในส่วนการติดตั้งหัวดับเพลิงนั้นได้ประสานให้การประปานครหลวงเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานติดตั้ง จำนวน 5,413 จุด โดยติดตั้ง กับท่อจ่ายน้ำที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 4 นิ้ว หรือ 100 มิลลิเมตร และเป็นท่อรับน้ำที่แยกมาจากท่อใหญ่เส้นผ่า ศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 6 นิ้ว หรือ 150 มิลลิเมตร สำหรับบริเวณชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่นจะติดตั้งในระยะห่างประมาณ 100-150 เมตร และชุมชนรอบนอกจะติดตั้งในระยะห่างประมาณ 500-1,000 เมตร
ในการนี้กรุงเทพมหานครได้มีหนังสือเร่งรัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อออกกฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ.2542 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับอาสาดับเพลิง และได้มีการยกร่างขึ้นมาพิจารณาแล้ว หากดำเนินการเรียบร้อย และประกาศเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ กทม. จะดำเนินการแต่งตั้งสมาชิก อปพร. ที่ผ่านการฝึกอบรมเป็นอาสาสมัครดับเพลิงต่อไป สำหรับการให้ความช่วยเหลือกรณีอาสาสมัครดับเพลิงได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ สามารถนำพ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัย เนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.2543 มาใช้ในการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ผู้ได้รับบาดเจ็บและทายาทผู้เสียชีวิตจากการช่วยเหลือราชการ โดยยื่นแบบคำขอรับเงินสงเคราะห์ได้ ณ สำนักงานเขตหรืออำเภอในท้องที่เกิดเหตุ เพื่อนำเสนอกรุงเทพมหานครส่งเรื่องไปยังกรมบัญชีกลางพิจารณาต่อไป--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ