กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย)
จักษุแพทย์จากโรงพยาบาลจักษุ รัตนินแนะวิธีดูแลดวงตาระหว่างใช้คอมพิวเตอร์ ควรกะพริบตาให้บ่อยขึ้น และจัดวางหน้าจอคอมพิวเตอร์ในตำแหน่งที่เหมาะสม ระยะห่าง 20-28 นิ้ว และให้ ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 4-9 นิ้ว ขณะที่แสงสว่าง ต้องไม่จ้าจนเกินไป พร้อมแนะให้ลุกยืดเส้น ยืดสายทุกชั่วโมง เสริมด้วยการตรวจเช็คสายตาทุกปี
แพทย์หญิงภัทรมน บรรณประดิษฐ์ จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน แนะนำว่า “ปัจจุบันกลุ่มอาการทางสายตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์มีเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการใช้คอมพิวเตอร์อย่างแพร่หลายในสำนักงานต่างๆ จากสถิติ พบว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมากกว่า 50% มีอาการทางสายตา ได้แก่ ปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า และปวดศีรษะ รวมทั้งมีอาการอื่นๆ เช่น ปวดเมื่อยคอและหลัง โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ตัวแปรที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าวมีหลายประการ เช่น ภาวะตาแห้ง ความผิดปกติของสายตาและค่าสายตา ความสามารถในการเพ่ง แว่นตาที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ ชนิดของคอมพิวเตอร์ แสงสะท้อนจากคอมพิวเตอร์ ความสว่างของห้อง ท่านั่งขณะใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น”
“ภาวะตาแห้งเกิดจากผู้ใช้คอมพิวเตอร์กะพริบตาน้อยลง เนื่องจากมีสมาธิขณะทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้อัตราการกะพริบตาลดลงจาก 20-22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6-8 ครั้งต่อนาที เท่านั้น ทั้งนี้การแก้ไขอาการนี้ ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ต้องกะพริบตาถี่ขึ้น ปรับความสูงของจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยระยะห่างระหว่างจอภาพและผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ควรอยู่ระหว่าง 20-28 นิ้ว ระดับ จอภาพ จุดศูนย์กลางของคอมพิวเตอร์ควรอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 4-9 นิ้ว ไม่ควรอยู่สูงหรือต่ำเกินไป ควรอยู่ตรงด้านหน้าของผู้ใช้ นอกจากนี้อาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตา เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดวงตา” แพทย์หญิงภัทรมน กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับการเลือกแว่นตาที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ แพทย์หญิงภัทรมนแนะนำว่าควรเลือกใช้เลนส์ สีชมพูอ่อนที่ช่วยให้สบายตาภายใต้แสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ โดยในการเลือกแว่นตานั้นควรวัดที่ระยะ 50-70 ซม. ส่วนมองใกล้สำหรับมองทำมุม 10-20 องศา ซึ่งค่ากำลังของเลนส์ดังกล่าว มีความแตกต่างจากเลนส์อ่านหนังสือหรือมองใกล้ทั่วไป และเพื่อลดแสงสะท้อนจากจอภาพ
จักษุแพทย์แนะนำว่าหากในสำนักงานมีแสงสว่างมากเกินไป ควรปิดหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์บางส่วน ปรับมูลี่หน้าต่างเพื่อปรับไม่ให้แสงตกกระทบจอคอมพิวเตอร์โดยตรง และใช้แผ่นลดแสงสะท้อนจากคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำจากวัสดุต่างกัน เช่น ผ้าตาข่าย หรือกระจกซึ่งช่วยให้มองเห็นตัวอักษรได้ดีกว่า หรือปรับการเลือกใช้ขนาดของตัวอักษรที่ใหญ่พอและปรับความเข้มของตัวอักษรให้เข้มขึ้น โดยสังเกตได้จากการที่ยังสามารถอ่านตัวอักษรขนาดดังกล่าวได้ที่ระยะห่างเป็น 3 เท่าของระยะทำงาน เลือกใช้จอคอมพิวเตอร์ชนิด LCD (จอแบน) ซึ่งจะช่วยถนอมสายตาได้ดีกว่าจอมคอมพิวเตอร์แบบเก่า (CRT)
สำหรับการวางตำแหน่งคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้ควรจัดให้บริเวณหน้าต่างอยู่ด้านข้างของโต๊ะทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้แสงตกสะท้อนจอคอมพิวเตอร์ ทำให้มองเห็นไม่ชัด ไม่สบายตา นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงเฟอร์นิเจอร์ที่มีผิวสะท้อน รวมทั้งใช้ฉากกั้นเพื่อลดปริมาณแสง ควรจัดวางคีย์บอร์ดและเม้าส์ต่ำกว่าระดับข้อศอก พร้อมปรับความสูงของเก้าอี้ให้เหมาะสม มุมตรงเข่ากับเก้าอี้ควรมากกว่า 90 องศา เก้าอี้ที่ดีควรมีที่พักแขน นอกจากนี้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ควรเปลี่ยนอิริยาบถ หรือลุกขึ้นยืดเส้น ยืดสายทุกๆ ชั่วโมง เพื่อพักสายตาและป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดเมื่อยเมื่อต้องใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
“นอกจากนี้บุคคลทั่วไปควรตรวจสายตาปีละหนึ่งครั้ง เพื่อวัดความดันตา ดูประสาทตา และตรวจเช็คความผิดปกติของสายตาเสียแต่เนิ่นๆ เนื่องจากโรคตาบางอย่างไม่แสดงอาการจนกว่าโรคจะถึงขั้นรุนแรง หากตรวจพบโรคตาบางโรคและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะช่วยป้องกันการสูญเสียสายตาได้” แพทย์หญิงภัทรมนกล่าวสรุป
บริษัท เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย) จำกัด
บราลี อินทรรัตน์ / รัชฎา ปสันตา / สุเกียรติ กิตติธรรมโชติ
โทรศัพท์ 0-2658-6111-20--จบ--
-นท-