กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--ลีโอ แอคติเวชั่น
"ไตวาย" มหันตภัยร้ายคร่าชีวิตคนไทย ประเทศชาติสูญเงินค่ารักษาปีละกว่าแสนล้าน โดย กองทุนผู้ป่วยโรคไตและสงฆ์อาพาธ มูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์ วัดสุทธาราม กรุงเทพฯ
คนที่ไม่เคยสัมผัสหรือไม่รู้จักกับโรค "ไต" คงไม่รู้หรอกว่าความทุกข์ทรมานและลำบากที่ได้รับจากโรคนี้สาหัสสากรรจ์ขนาดไหน แต่สำหรับคนที่คุ้นเคยและรู้จักกับโรคนี้ดีแล้ว รู้ซึ้งถึงความรู้สึกเหล่านี้ได้ดี
โรค "ไต" มีมากมายหลายชนิด มีทั้งชนิดที่เกิดขึ้นภายในไตเองหรือเกิดจากสาเหตุอื่นนอกไตแล้วมีผลกระทบทำให้เป็นโรคไต เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สาเหตุของโรคไตที่พบบ่อยเกิดจากหลายโรคกล่าวคือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคนิ่วในไต โรคไตอักเสบชนิดที่ติดเชื้อ โรคไตอักเสบชนิดที่ไม่เกี่ยวกับติดเชื้อ โรคลูปัส (SLE) โรคหลอดเลือดไตตีบหรืออุดตัน โรคถุงน้ำในไต ความผิดปกติระบบทางเดินปัสสาวะแต่กำเนิด เช่น กรวยไต หรือท่อไตตีบตัน และสุดท้ายคือโรคมะเร็ง
โรค "ไต" เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่จำกัดเพศและวัย ในปีหนึ่งๆ จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้จำนวนไม่น้อย อาการของโรคมีได้มากมาย มักจะไม่มีอาการเฉพาะแต่อย่างใด มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไตมีความผิดปกติโดยไม่มีอาการอะไรเลย และผู้ป่วยเองก็ไม่ทราบด้วยว่าตัวเองป่วยเป็นโรคไตอยู่ จนกระทั่งไปตรวจพบโดยบังเอิญ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ป่วยโรคไตจะมาพบแพทย์ในขณะที่มีอาการแล้ว และตรวจพบว่าเนื้อไตถูกทำลายเสียหายไปแล้วมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และกลายเป็นโรคไตวายเรื้อรังในที่สุด ซึ่งในขั้นต้นอาการและการตรวจพบที่บ่งชี้ว่าอาจเป็นโรคไตได้คือ อาการบวม ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะบ่อยเวลากลางคืน ปวดหลัง ความดันโลหิตสูง ซีดและอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน และเบื่ออาหาร
โรคไตวายเรื้อรังนับเป็นภัยร้ายที่คุกคามชีวิตเงียบๆ และน่ากลัวไม่น้อย และนับวันก็มีจำนวนผู้ป่วยสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งนับเป็นความสูญเสียที่รุนแรงทั้งในด้านทรัพย์สิน ทรัพยากร และบุคลากรของชาติ โดยในเรื่องของค่าใช้จ่ายนั้นหากเป็นการรักษาที่จะต้องได้รับการฟอกเลือดล้างไตด้วยเครื่องไตเทียมแล้ว ค่าใช้จ่ายในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก การฟอกเลือดล้างไตนั้น เฉพาะค่าล้างไตจะอยู่ที่ประมาณ 15,000-50,000 บาทต่อเดือน และต้องได้รับการรักษาเช่นนี้ไปตลอดชีวิตจนกว่าจะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหรือเสียชีวิตในที่สุด
จากสถานการณ์ของผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทยนั้น หากย้อนไปดูสถิติในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาของจำนวนผู้ป่วยโรคไตที่เข้ามารับบริการฟอกเลือดล้างไต ที่กองทุนผู้ป่วยโรคไตและสงฆ์อาพาธ มูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์ วัดสุทธาราม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่เปิดให้บริการรักษาโรคไตแก่ผู้ที่มีรายได้น้อย สามารถให้บริการรักษาผู้ป่วยได้เพียงวันละประมาณ 10 คน พบว่าในเดือนพฤศจิกายน 2546 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการไตเทียมจำนวน 10 ครั้ง ขณะที่เดือนธันวาคม 2546 มีจำนวนผู้ป่วยรับบริการไตเทียม 32 ครั้ง และในเดือนมกราคม 2547 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยรับบริการไตเทียม รวม 54 ครั้ง
ตัวเลขของสถิติดังกล่าวยังระบุอีกว่า จำนวนผู้ป่วยโรคไตวายที่ได้รับการรักษาทดแทนไตในประเทศไทยนั้น นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยในประเทศไทย มีจำนวนผู้ป่วย 92 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ที่ได้รับการทดแทนไต ขณะที่สิงค์โปร์มีจำนวนผู้ป่วย 700 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ไต้หวัน 1,200 คนต่อประชากร 1 ล้านคน สหรัฐอเมริกา 1,200 คนต่อประชากร 1 ล้านคน และญี่ปุ่น 1,400 คนต่อประชากร 1 ล้านคน
นอกจากนี้ข้อมูลการลงทะเบียนรักษาทดแทนไตในประเทศไทยในปี 2540-2543 ที่นายอนุตร จิตตินันทน์และคณะจัดทำขึ้น พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรักษาทดแทนไตในประเทศมีการเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2543 มีจำนวนประมาณเกือบ 6,000 คน แต่เนื่องจากจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ป่วยที่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ หากประมาณการคร่าวๆ แล้ว จำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในประเทศไทยในปัจจุบันน่าจะมีประมาณ 22,000 คน
สำหรับสถานการณ์ในปี 2546 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังประมาณ 20,000 กว่าคน ซึ่งเป็นตัวเลขจากทั้งที่ตรวจพบได้จากผู้เข้ารับการรักษา รวมทั้งตัวเลขประมาณการจากผู้ป่วยที่ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นอยู่ โดยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในปี 2545 จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ประการสำคัญยังพบด้วยว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังนี้ เริ่มมีระดับอายุลดลง จากเดิมที่จะเป็นในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยกลางคน แต่ปัจจุบันพบว่าในระดับเยาวชนอายุ 16-17 ปี เริ่มมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
เมื่อพิจารณาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังยังคงมีอัตราสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถ้ามีการรวมการบำบัดทดแทนไตเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ของโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว จะทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยที่เดิมจะต้องเสียชีวิตเพราะไม่สามารถเข้าถึงการรักษา จะมีชีวิตยืนยาวอยู่ต่อไปได้ โดยมีการคาดการณ์ในกรณีนี้ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 6 เท่าในเวลาประมาณ 6 ปี (จากประมาณ 5,000 รายในปี 2543 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30,000 ราย ในปี 2549) ซึ่งจะทำให้รัฐแบกรับภาระทางการเงินอย่างมาก หากคำนวณค่าใช้จ่ายในการรักษารวมที่ต้องใช้จ่ายทั้งระบบแล้ว ประเทศชาติจะต้องเสียงบประมาณในการดูแลบำบัดและรักษาพยาบาลเป็นมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
หนทางป้องกันที่จะไม่ให้ตัวเองต้องประสบกับภัยร้ายของโรคไต ซึ่งอาจจะพัฒนาไปในทางลบมากขึ้นจนกลายเป็นโรคไตวายเรื้อรัง และต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูงมากนั้น วิธีที่ดีที่สุดก็คือการหมั่นใส่ใจรักษาสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ ถ้าหากรู้ว่าตนเองมีอาการของโรคไตในระยะเริ่มต้นแล้ว ควรที่จะเริ่มรักษาโดยทันที เพื่อบรรเทาอาการและป้องกันการเสื่อมของไต อย่าผลัดวันประกันพรุ่งนี้ หรือคิดว่าไม่เป็นไร เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะสายเกินแก้ก็เป็นได้ ใครจะรู้!!
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ประสิทธิ์ เจริญศาสนกุล
ลีโอ แอคติเวชั่น
โทร. 02 684 5555--จบ--
-นห-