กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์
ภาพยนตร์ เรื่อง The Passion of the Christ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับช่วงเวลา 12 ชั่วโมงสุดท้ายแห่งชีวิตของเยซูแห่งนาซาเร็ธ หนังเปิดฉากที่ สวนมะกอก (เกทเสมนี) ซึ่งเป็นสถานที่ๆ พระเยซูคริสต์ใช้เวลาสวดภาวนาหลังจากเสร็จสิ้นอาหารค่ำมื้อสุดท้ายไปแล้ว พระองค์ปฏิเสธการล่อลวงของปีศาจ จากการทรยศของยูดาส อิสคาริโอท พระเยซูคริสต์ถูกจับกุมและนำกลับเข้าไปในเขตเมืองเยรูซาเล็มซึ่งพวกหัวหน้าของพวกฟาริสีทั้งหลายเผชิญหน้ากับพระองค์และกล่าวหาพระองค์ว่าเป็นพวกดูหมิ่นศาสนา และผลจากการสอบสวน พระองค์ถูกตัดสินด้วยโทษประหารชีวิต
พระเยซูคริสต์ได้ถูกนำมาอยู่ต่อหน้าของปีลาต ผู้นำโรมันแห่งสภาสูงของปาเลสไตน์ ซึ่งได้รับฟังข้อกล่าวหาจากพวกฟาริสี ปีลาตตระหนักว่าสิ่งที่เขากำลังเผชิญคือความขัดแย้งทางการเมือง เขาจึงผัดผ่อนโดยการให้กษัตริย์เฮโรดพิจารณา กษัตริย์เฮโรดส่งพระเยซูคริสต์กลับคืนให้กับปีลาตซึ่งมอบให้ฝูงชนเป็นผู้เลือกระหว่างพระเยซูคริสต์กับนักโทษอุกฉกรรจ์อย่างบาราบัส ฝูงชนเลือกที่จะปลดปล่อยบาราบัสเป็นอิสระและเอาโทษกับพระเยซูคริสต์พระเยซูคริสต์ได้ถูกส่งตัวให้กับทหารโรมันและถูกโบยตีทรมาน ทั้งที่ยังไม่ได้รับการยอมรับ พระเยซูคริสต์ได้ถูกนำกลับมาอยู่ต่อหน้าปีลาตผู้นำพระองค์ไปต่อหน้าฝูงชนเหมือนกับจะประกาศว่า "ยังไม่เป็นการเพียงพอกันอีกหรือ?" มันยังไม่พอ ปิลาตจึงล้างมือของเขาเพื่อประกาศถอนตัวจากเหตุการณ์นี้ และมีคำสั่งให้ทหารทำตามคำเรียกร้องของฝูงชนพระเยซูคริสต์ได้ถูกสั่งให้แบกไม้กางเขนไปตามถนนในกรุงเยรูซาเล็มและแบกขึ้นภูเขากัลโกธา และบนยอดเขากัลโกธานั้นเองพระองค์ได้ถูกตรึงไว้กับไม้กางเขนและเผชิญกับการทดสอบครั้งสุดท้าย - ความกลัวที่ว่าพระองค์จะถูกทอดทิ้งจากพระบิดา - พระเยซูคริสต์ได้พิชิตความหวาดกลัวนั้น ทรงมองไปที่พระนางมารีพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธ์ของพระองค์และเปล่งเสียงเป็นข้อความที่มีแต่พระนางเท่านั้นที่จะเข้าใจว่า "มันได้บรรลุผลแล้ว" และพระเยซูคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์ : "ข้าพระองค์ขอฝากวิญญาณจิตของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์" และในขณะที่สิ้นพระชนม์นั้นเอง ธรรมชาติก็เกิดอาเพศ
ต้นเรื่อง
บทภาพยนตร์ของเรื่อง The Passion of The Christ นี้ ได้รับการดัดแปลงโดย เมล กิบสัน ซึ่งเป็นทั้งผู้สร้างและผู้กำกับ โดยร่วมมือกับเบนเนดิค ฟิทสเจอรัล (จากเรื่อง Wise Blood, In Cold Blood, Heart of Darkness, Zelda) เพื่อบรรยายช่วงเวลา 12 ชั่วโมงสุดท้ายของการมีชีวิตบนโลกมนุษย์ของพระเยซูคริสต์ มันเป็นการดัดแปลงและประมวลขึ้นจากหลายเหตุการณ์ของเรื่อง The Passion ซึ่งเรียบเรียงมาจากพระคัมภีร์สี่เล่มของ มัทธิว มาร์ค ลูกา และยอห์น
ภาษา
เราจะได้ยินตัวละครทั้งหมดในเรื่องนี้พูดสนทนากันหลายภาษาที่ใช้กันในสมัยนั้น ภาษาอาราแมคสำหรับตัวละครที่เป็นคนยิวซึ่งรวมทั้งตัวพระเยซูคริสต์และอัครสาวกทั้งหลายด้วย ภาษาลาตินพื้น ๆ สำหรับตัวละครโรมัน เราจะไม่ค่อยได้ยินภาษากรีกซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารสำหรับนักปราชญ์ในสมัยนั้นในภาพยนตร์เรื่องนี้มากนัก
สถานที่ถ่ายทำ
สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Passion of the Christ ถ่ายกันในประเทศอิตาลีทั้งเรื่อง ซึ่งใช้สถานที่หลัก ๆ สองที่ด้วยกันคือ
มาเทอร่า
ฉากตรึงกางเขนนั้นถ่ายทำกันในเมืองที่สวยงามของมาเทอร่าซึ่งอยู่ในเขตบาซิลีกาต้าซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี เป็นสถานที่ใกล้กับที่ เปีย เปาโล ปาโซลินี ถ่ายทำเรื่อง The Gospel According to St Mathew เมื่อปี ค.ศ. 1965
สตูดิโอ ซิเนซิตต้า
ฉากในเมืองเยรูซาเล็มเป็นฉากที่สร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในสตูดิโออันเลื่องชื่ออย่างซิเนซิตต้า ซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงโรม โดยทีมงานสร้างฉากที่มีชื่อเสียงของ ฟรานเซสโก ฟริเกอรี่และฝีมือตกแต่งฉากของคาร์โล เจอวาซี่ ฉากสิ่งปลูกสร้างอันอลังการได้แก่ฉากโบสถ์ซึ่งใช้เป็นที่ชำระความของพระเยซูคริสต์ ฉากลานหน้าวังของปีลาตซึ่งใช้เป็นที่ฟังคำพิพากษาของพระเยซูคริสต์และยังมีฉากบริเวณกำแพงซึ่งพระองค์ถูกทรมานและโบยตีอีกด้วย
ทีมงานผู้สร้างสรรค์
กิบสันขอให้ทางตากล้อง คาเล็บ เดสชาเนล (เรื่อง Patriot และเรื่อง The Rigjht Stuff) ใช้โทนสีของภาพยนตร์ให้ออกมาดูแล้วเหมือนภาพวาด ของศิลปินบาร็อคชาวอิตาเลียนคาราวาจิโอ ซึ่งภาพวาดของเขานั้นเป็นที่รู้จักกันดีในแง่ความมีชีวิตชีวาของภาพจากความขัดแย้งกันของแสงสว่างและเงามืด "ผมคิดว่างานของเขาเป็นงานที่สวยงาม" กิบสันกล่าวถึงคาราวาจิโอ "มันแสดงให้เห็นความรุนแรง มันมีความมืด มันเต็มไปด้วยจิตวิญญาณ และมันยังมีความแปลกพิกลอยู่ในนั้นด้วย" ภาพยนตร์เรื่องนี้เกือบ 40 เปอร์เซนต์ถ่ายทำกันในสถานที่และในเวลากลางคืนเพื่อที่จะให้ความรู้สึกของการที่แสงเงาต่อสู้กันเพื่อหาหนทางออกจากความมืดมิด เครื่องแต่งกายได้รับการค้นคว้าอย่างพิถีพิถันและทำขึ้นด้วยงานฝีมือโดยดีไซน์เนอร์ผู้ได้รับรางวัล อย่างมอริชิโอ มิลเลนโนติ (จากเรื่อง Hamlet, Importance of Being Earnest) กิบสันอยากให้ความรู้สึกของภาพยนตร์ออกมาในทำนองเดียวกันกับภาพวาดของ คาราวาจิโอ โดยอยู่ในโทนสีน้ำตาล สีดำและสีเบจ ถึงแม้ว่าทีมงานเจ้าหน้าที่กองถ่ายส่วนใหญ่จะหาจ้างได้ในประเทศอิตาลี (และผู้ร่วมแสดงส่วนใหญ่ก็มาจากอิตาลีหรือทางยุโรปตะวันออก) ทีมงานแต่งหน้าพิเศษและช่างผมภายใต้ความควบคุมของ คีธ แวนเดอแลนและเกรก แคนนอม (เรื่อง A Beautiful Mind, Pirates of the Caribbean) นั้นต้องนำมาจากฮอลลีวู้ด กิบสันตระหนักดีว่าเขาต้องการทีมแต่งหน้าที่ดีที่สุดในโลกเพื่อสร้างให้เห็นความขัดแย้งและความรู้สึกทิ่มแทงหัวใจที่ตัวเขาค้นหาในฉากถูกโบยตีและฉากถูกตรึงกางเขน นักแสดงอย่างเจมส์ คาวีเซลต้องอดทนและใช้เวลาถึงวันละ 7 ชั่วโมงในการแต่งหน้าเพื่อถ่ายทำฉากหลัง ๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้
THE PASSION OF THE CHRIST
เกี่ยวกับงานสร้าง
"ท่านทั้งหลายเป็นมิตรสหายของเรา ไม่มีผู้ใดมีความรักที่ยิ่งใหญ่กว่าชายผู้หนึ่งที่สละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหายของตน"
กรุงโรมนั้น เป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ได้ถูกตอกสลักไว้ในก้อนหินและภาพวาดตลอดเวลาที่ผ่านพ้นไปหลายศตวรรษ เมล กิบสัน ในฐานะผู้กำกับและเจ้าของรางวัลตุ๊กตาทองได้สรรค์สร้างโลกในสมัยโบราณขึ้นมาใหม่ กรุงเยรูซาเล็มในวันสุดท้ายแห่งชีวิตของพระเยซูคริสต์เพื่อสร้างภาพยนตร์ เรื่อง The Passion of The Christ โดยได้รับความร่วมมือจากทีมนักแสดงและทีมงานที่มีความมุ่งมั่นรวมทั้งช่างฝีมือหลายต่อหลายชีวิต กิบสันได้กลับไปเยือนเรื่องราวอมตะที่เกี่ยวกับความจริงที่ขัดแย้งกับความรู้สึกและอารมณ์ของความกลมกลืนของหนัง
"The Passion" (ในภาษาละตินหมายถึงความทรมานและในอีกแง่ความหมายหนึ่งคือ กิเลสและความลุ่มหลง) กล่าวถึง เหตุการณ์ของความรวดร้าวทรมานเพื่อไถ่บาปในช่วงเวลา 12 ชั่วโมงสุดท้ายของชีวิตพระเยซูคริสต์ ซึ่งมาจากการเล่าเรื่องสี่แบบจากหนังสือพระคัมภีร์ใหม่และตำนานที่เล่าขานกันมากว่า 2000 ปี จินตนาการอันแรงกล้าเกี่ยวกับเรื่อง The Passion ได้ทรงอิทธิพลกับจินตนาการของศิลปินมาเป็นเวลายาวนาน จากภาพเขียนของชนชาติตะวันตกและยังเป็นอิทธิพลให้เกิดจินตนาการในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องในศตวรรษที่ผ่านมา ในเวลาที่ไล่เลี่ยกับหนังเงียบของโทมัส เอดิสัน เรื่อง The Passion เป็นเรื่องที่ชวนสนใจสำหรับคนทำหนังที่มีความฝัน ในปี ค.ศ. 1927 ซิซิล บี เดอมิลล์ ได้กำกับหนังเงียบเรื่องแรกที่บรรยายภาพเกี่ยวกับความทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์จากเรื่อง King of the Kings และในปี ค.ศ. 1953 บริษัท ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟอกซ์ ก็ได้ริเริ่มนำเทคโนโลยีระบบซีเนมาสโคปเข้ามาใช้ในภาพยนตร์เรื่อง The Robe ซึ่งแสดงนำโดย ริชาร์ด เบอร์ตัน ซึ่งรับบทเป็นผู้ปกป้องอิสรภาพชาวโรมัน ที่แสวงหาการไถ่บาปหลังจากการตรึงไม้กางเขน และในช่วงปี ค.ศ. 1960 ได้มีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับพระคัมภีร์โดยจอร์จ สตีเว่นได้สร้างหนังที่ควรค่าแก่การจดจำ เรื่อง The Greatest Story Ever Told ซึ่งทุ่มเทให้กับฉากที่มโหฬารและใช้ผู้แสดง "นับพันคน" และในเวลาที่ใกล้เคียงกันนั่นเอง ผู้กำกับหนังชื่อดังอย่าง เปีย เปาโล ปาโสลินี ได้นำเสนอเรื่องนี้ในแนวทางใหม่ ๆ ในภาพยนตร์เรื่อง The Gospel According to St. Mathew ซึ่งใช้ผู้แสดงที่ไม่ใช่นักแสดงอาชีพทั้งหมด ด้วยรูปแบบที่เป็นธรรมชาติและภาษาที่ใช้ก็ถอดโดยตรงมาจากข้อความในพระคัมภีร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้นับว่าเป็นผลงานที่สร้างชื่อในอาชีพการทำหนังให้กับ ปาโสลินีเลยทีเดียว ในปี ค.ศ. 1970 เรื่อง The Passion ได้ถูกนำเสนอในด้านดนตรีเป็นสองแบบ: คือ เรื่อง The Godspel และเรื่องJesus Christ Superstar และเมื่อไม่นานมานี้เอง ผู้กำกับอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี ก็ได้นำเสนอเรื่องชีวิตของพระเยซูคริสต์ในความขัดแย้งกับตัวเอง ในภาพยนตร์เรื่อง The Last Temptation of Christแต่อย่างไรก็ตามไม่เคยมีผู้สร้างหนังคนไหน ที่นำเรื่องเกี่ยวกับความจริงจังที่จะเสียสละชีวิตมาตีแผ่ในแง่ของภาพยนตร์อย่างละเอียดและสมจริง สำหรับตัวเมล กิบสันนั้นการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการสานฝันที่ยาวนานของเขา โดยได้นำความหลงใหลส่วนตัวและของคนอื่น ๆ รวมทั้งผู้ร่วมงานสร้างที่ได้รับความเชื่อถือ อย่าง บรูซ เดวีย์ และสตีฟ แมคอีวีตี้ ที่จะทำให้ฝันของเขาเป็นความจริง
"ความตั้งใจในการทำหนังเรื่องนี้ของผมนั้น คือสร้างหนังที่เป็นศิลปะอย่างยืนยง และสะท้อนให้ผู้ชมจากภูมิหลังที่แตกต่างกัน เกิดความคิดอย่างเป็นจริงเป็นจังระหว่างพวกเขา" กิบสันกล่าว เขายังเล่าอีกว่า "สิ่งที่ผมได้แต่หวังก็คือ หนังเรื่องนี้จะสามารถสื่อให้เห็นถึงความกล้าหาญ กำลังใจและความเสียสละซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นความใจกว้าง ความรักและการให้อภัยอันเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนแสวงหากันในโลกยุคปัจจุบัน" กิบสันได้เริ่มจากการค้นคว้าเกี่ยวกับพระคัมภีร์และเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงจากในเรื่อง The Passion มาเป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว เมื่อตัวเขาพบว่าเขาเองอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางจิตวิญญาณของเขาเองซึ่งทำให้เขาต้องกลับไปพิจารณาความเชื่อและความศรัทธาของตัวเขาเอง เขาต้องเข้าฌานพิจารณาถึงธรรมชาติของความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน การยกโทษและการไถ่บาป กิบสันในฐานะผู้กำกับการแสดงที่ทำให้สก๊อตแลนด์ในศตวรรษที่ 13 กลับมามีชีวิตอีกครั้งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลตุ๊กตาทองเรื่อง Braveheart ตระหนักว่าเขาได้มีโอกาสเป็นพิเศษที่จะนำและรวบรวมศิลปะในหัวใจของเขา เขาได้จินตนาการที่จะนำพลังเทคโนโลยีอันนำสมัยของภาพยนตร์ - โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหนังให้สมจริงทางด้านการถ่ายภาพ การสร้างฉากและการนำแสดง มาใช้กับเรื่อง The Passion กิบสัน ได้ร่วมกับเบเนดิค ฟิทซเจอรัล ผู้เขียนบทเรื่อง Wise Blood โดยได้ดึงเอาความเชื่อในหนังสือพระคัมภีร์ของ มัทธิว มาร์ค ลูกา และยอห์น มาเป็นแนวการเขียน แต่กระนั้น กิบสันเองก็ตระหนักดีว่าเขากำลังก้าวข้ามสู่อาณาเขตศิลปะอย่างที่ไม่มีผู้ใดเคยทำมาก่อน - ที่ซึ่งงานศิลปะ การเล่าเรื่อง และความเสียสละส่วนตัว มาบรรจบกัน "เมื่อเราต้องทำงานกับเรื่องราวซึ่งรู้จักกันอย่างแพร่หลาย และมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปอย่างมาก สิ่งเดียวที่เราพึงกระทำก็คือคงความเป็นจริงของเรื่องไว้ให้มากที่สุด และใช้วิธีถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง" กิบสันกล่าว "นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามจะทำ" และในการตัดสินใจที่จะเน้นหนักทางความดูสมจริงทางร่างกาย กิบสัน กล่าวต่อ "ผมต้องการแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของการเสียสละ รวมทั้งความน่ากลัวของมันด้วย แต่ผมก็ยังอยากให้หนังแสดงถึงช่วงเวลาและท่วงทำนองของความเป็นจริง ความงามรวมทั้งสัมผัสได้ถึงความรัก เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความศรัทธา ความหวังและความรัก และสิ่งนั้นในความคิดเห็นของผม มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราจะบรรยายมันออกมาได้ " ภาพยนตร์เรื่อง The Passion of the Christ นั้น กำกับโดย เมล กิบสัน และสร้างโดย บรู๊ซ เดวีย์ กิบสัน และ สตีฟ แม๊คอีวีตี โดยมี เอนโซ่ ซิสตี้ เป็น ผู้อำนวยการบริหาร และในทีมงานผู้สร้างที่มีความสามารถนั้นยังมี คาเล็บ เดสชาเนล ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลตุ๊กตาทองถึง 4 ครั้ง ร่วมงานอยู่ด้วยในฐานะผู้กำกับภาพ อีกทั้งฟรานเชสโก้ ฟริเกอรี่ผู้ออกแบบฉากซึ่งได้รับรางวัล และ มอริซิโน่ มิเนโนตติ ผู้ได้รับการเสนอชื่อสองรางวัลตุ๊กตาทองฝ่ายเครื่องแต่งกาย ทีมงานสเปเชี่ยลเอฟเฟค และทีมงานแต่งหน้าของ คีธ แวนเดอแลน และเกร็ก แคนนอม (ผู้ซึ่งได้รับสองรางวัลตุ๊กตาทอง) รวมทั้ง จอห์น ไรท์ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อรางวัลออสการ์ ถึงสองรางวัลเป็น ผู้ลำดับภาพ
(ยังมีต่อ)
-นท-
- ธ.ค. ๒๕๖๗ TV Special ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ ภูมิใจเสนอ... ภาพยนตร์ตื่นเต้น ระทึกขวัญ สุดยิ่งใหญ่ “ เดอะ เพรดเดเทอร์” นักล่าที่อันตรายที่สุดในจักรวาล
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ภาพยนตร์โรแมนติกดราม่า Love, Simon เปิดฉายรอบพิเศษ ณ ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย
- ธ.ค. ๐๘๐๗ “หมาก ปริญ” ร่วมการันตีหนังฟอร์มยักษ์ สนุกครบทุกความมันส์ ในงานเปิดตัว “Maze Runner : The Death Cure Thailand Premiere”