กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--เพาเวอร์ พลัส มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส
หน่วยวิจัยภาษาศาสตร์คำนวณ (TCL) แถลงผลดำเนินงานครบรอบ 1 ปี สร้างไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาระหว่างประเทศเน้นการวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในภูมิภาคเอเซีย
หน่วยวิจัยภาษาศาสตร์คำนวณ (Thai Computational Linguistics Laboratory หรือ TCL) ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (National Institute of Information and Communications Technology หรือ NICT) ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดงานแถลงผลดำเนินงานครบรอบ 1 ปี โดยเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการใช้ภาษาของตนเองในภูมิภาค ผลงานวิจัยจะครอบคลุมทั้งผลงานวิจัยพื้นฐานและผลงานวิจัยประยุกต์ ในการแถลงผลงานครั้งนี้ นอกจากจะได้เผยแพร่ข้อมูลบทความวิชาการที่ได้ตีพิมพ์แล้ว ทางหน่วยวิจัยฯ ยังได้นำผลงานมาสาธิตรวม 4 ระบบ ไ้ด้แก่ ระบบฐานความรู้ของคำศัพท์เชิงคำนวณ (TCL's Computational Lexicon), ระบบจัดเก็บนามบัตรอัจฉริยะ (Intelligent Name Card Management System) ระบบให้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้วยมาตรฐาน XML (E-Form) และ ระบบดิจิตัลไลบรารีสำหรับเอเชีย (Asian Digital Library)
TCL ตั้งอยู่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เป็นหน่วยวิจัยพี่น้องกับกลุ่มภาษาศาสตร์คำนวณ (Computational Linguistics Group) ภายใต้การกำกับของ Keihanna Human Info-Communication Research Center (KICR), NICT หน่วยวิจัยทั้งสองวางแผนและดำเนินการวิจัยร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยมีเป้าหมายที่จะให้หน่วยวิจัยในประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตผลงานวิจัยระดับสากล พร้อมทั้งเป็นสะพานเชื่อมเพื่อวิจัยร่วมและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้กลุ่มภาษาศาสตร์คำนวณ (Computational Linguistics Group) นั้น ปัจจุบันเป็นหน่วยงานวิจัยทางด้านภาษาศาสตร์คำนวณชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่น มีผลงานระดับสากลมากมาย
ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช ผู้อำนวยการ หน่วยวิจัยภาษาศาสตร์คำนวณ หรือ TCLได้เปิดเผยในโอกาสจัดงานแถลงผลดำเนินงานครบรอบ 1 ปี ว่ามีความคืบหน้าในระดับที่น่าพอใจมาก ปีที่ผ่านมาได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารประชุมวิชาการสำคัญๆ มากมาย ทำให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในวงการวิชาการระดับสากล มีงานวิจัยที่มุ่งเน้นการเผยแพร่ผลงานเพื่องานวิชาการและประโยชน์ส่วนรวม อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในเชิงธุรกิจได้อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการสร้างผลงานวิจัย ทรัพย์สินทางปัญญา และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ
"การจัดตั้งหน่วยวิจัยภาษาศาสตร์คำนวณนี้ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นการสร้างความเชี่ยวชาญในสาขาการประมวลผลภาษาธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยพื้นฐานและการประยุกต์ใช้กับภาษาอื่น ๆ เป็นการวางพื้นฐานเพื่อการพัฒนาต่อไปในอนาคต หัวข้อการวิจัยต่าง ๆ กำหนดขึ้นโดยยึดหลักความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการวิจัยและความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีของภูมิภาค"
สำหรับผลงานวิจัยที่ TCL ได้นำมาประยุกต์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วได้แก่ ระบบฐานความรู้ของคำศัพท์เชิงคำนวณ (TCL's Computational Lexicon), ระบบจัดเก็บนามบัตรอัจฉริยะ (Intelligent Name Card Management System), ระบบดิจิตัลไลบรารีสำหรับเอเชีย (Asian Digital Library) และ ระบบให้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้วยมาตรฐาน XML (E-Form) ซึ่งคาดว่าระบบนี้จะนำไปประยุกต์ใช้เป็นคลังเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศซึ่งจะเสริมกับระบบ E-government ของประเทศ ได้ด้วย
นอกจากนโยบายการวิจัยเพื่อสาธารณประโยชน์แล้ว นโยบายอีกด้านหนึ่งของ TCL ก็คือการมุ่งหวังที่จะนำผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นไปสู่การพัฒนาร่วมกับองค์กรเอกชนผู้สนใจ เพื่อก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ อาทิ โครงการจัดเก็บนามบัตรอัจฉริยะ TCL กำลังดำเนินการร่วมมือกับบริษัทเอกชนในการนำไปพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจ
สำหรับความร่วมมืออื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการและสาธารณชน ได้แก่ การร่วมมือกับสมาพันธ์โอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย, เนคเทค, CICC เพื่อการส่งเสริมแนวทางการพัฒนาและการใช้โอเพ่นซอร์สในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะใน 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า ซึ่งได้นำเข้าหารือในการประชุมเอเชียโอเพ่นซอร์ส (AOSS) มาแล้วอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือ Language Observatory ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือทั่วโลก ในการดูแลภาษาบนอินเตอร์เน็ต โดยจะมีการอนุรักษ์ภาษาที่มีการใช้น้อย และการเชื่อมโยงความรู้ในภูมิภาคเข้าด้วยกัน
"การจัดงานแถลงผลดำเนินการครบรอบ 1 ปีนี้ ก็เพื่อจะนำเสนอให้สังคมทราบว่าหน่วยวิจัยภาษาศาสตร์คำนวณ (TCL) ได้ทำอะไรไปแล้วบ้างใน 1 ปีที่ผ่านไป โดยมุ่งหวังที่จะกระจายข่าวสารของหน่วยวิจัยฯ ไปยังองค์กรที่สนใจ รวมถึงนักวิจัยไทยที่มีผลงานหรือกำลังทำการวิจัยพัฒนาในแนวทางเดียวกัน ให้สามารถติดต่อเพื่อขอคำแนะนำหรือสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยวิจัยของเราได้ต่อไป" ผู้อำนวยการ TCL กล่าวสรุป--จบ--
-นท-
- ๒๒ ม.ค. ส.อ.ท. จัดงาน Industrial IoT Solution Expo 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 รวมเทคโนโลยี-นวัตกรรม IoT สำหรับภาคอุตฯ ไทย
- ม.ค. ๒๕๖๘ เออาร์ไอพี จับมือ สถาบัน ICTI และ ETDA จัดงาน "THAILAND DIGITAL TRANSFORMATION SYMPOSIUM 2024"
- ม.ค. ๒๕๖๘ นิตยสาร Business+ จับมือสถาบัน ICTI - สอท - ETDA จัดงาน "THAILAND DIGITAL TRANSFORMATION SYMPOSIUM 2022"