กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--บีโอไอ
ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนแนวใหม่ของบีโอไอแสดงผลงาน ส่งให้ประเทศไทยติดอันดับ 3 แหล่งน่าลงทุนในเอเชีย รองจากจีนและอินเดีย เลขาธิการบีโอไอมั่นใจจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้ตามอันดับ 3 ของเอเชียด้วย พร้อมมุ่งเน้นมาตรการ STI เพื่อดึงดูดโครงการวิจัยและพัฒนาเข้าประเทศไทย
นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลการสำรวจแนวโน้มการลงทุนทั่วโลกโดยอังถัดต์ (UNCTAD) ร่วมกับวารสาร CORPORATE LOCATION ของอังกฤษ ว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นความสำเร็จของการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอ ซึ่งหากมีการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ใหม่นี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ก็มั่นใจว่าไม่เพียงแต่ลำดับความน่าลงทุน แต่เม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ไทยจะเป็นไปตามผลสำรวจนี้คือ 3 อันดับของเอเชีย รองจากจีนและอินเดีย หรือ 4 อันดับของโลกด้วย
นายสมพงษ์กล่าวต่อไปว่า การที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นห้าอันดับแรกของเอเชียภายในปี 2548 มีความเป็นไปได้สูงมาก เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาได้มีการปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มุ่งอุตสาหกรรมเป้าหมาย การปรับสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับคุณค่าของการลงทุนต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การมุ่งเจาะกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายในภูมิภาคเป้าหมายทั่วโลก การประสานร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดCEO เพื่อบูรณาการการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับศักยภาพการลงทุนของภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม นโยบายและมาตรการการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนของประเทศ โดยผ่านมาตรการ STI การส่งเสริมการยกระดับทักษะการพัฒนาและถ่ายโอนเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย จะต้องขยายขอบเขตการดำเนินการ ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง เพื่อให้ประสบผลเป็นรูปธรรมโดยลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการ
แข่งขันทางธุรกิจสูงมากและวงจรผลิตภัณฑ์ที่วางขายในตลาด (Product Life Cycle) สั้นลง บริษัทจะต้องเคลื่อนย้ายกิจการด้านวิจัยและพัฒนาให้ไปอยู่ใกล้ตลาดและฐานการผลิต ซึ่งประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ดีที่จะดึงดูดส่วน R&D เหล่านี้มาสู่ประเทศ
ทั้งนี้ นักลงทุนเห็นว่าภูมิภาคเอเชียมีบรรยากาศที่น่าลงทุนที่สุดในโลกโดยมีจีน อินเดีย และไทย เป็นประเทศที่น่าลงทุน 3 อันดับแรก สำหรับอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนคือ ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ รองลงมาคือผลิตภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า บริการการพิมพ์ และบริการเกี่ยวกับสื่อ นอกจากนี้ การบริการทางธุรกิจ การท่องเที่ยว การขนส่ง กิจกรรมที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ค้าปลีกและค้าส่งก็จะขยายตัวมากยิ่งขึ้นสำหรับผลการสำรวจในครั้งนี้ อังค์ถัด (UNCTAD) ร่วมกับวารสาร CORPORATE LOCATION ของอังกฤษได้ทำการสำรวจแนวแนวโน้มการลงทุนทั่วโลกโดยได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านการลงทุนจากทุกภูมิภาคของโลกเมื่อต้นปีนี้ ผลปรากฎว่าผู้เชี่ยวชาญกว่า 4 ใน 5 เชื่อว่าบรรยากาศการลงทุนทางตรง(FDI) ของโลกจะปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับใน 4 ปีข้างหน้า หลังจากได้ซบเซาและลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา3ปีที่ผ่านมา ส่วนประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในโลกในระยะ4 ปีข้างหน้า 4 ลำดับแรกคือ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกาและไทย ประเทศที่น่าลงทุนในลำดับถัดไป คือ ลำดับ 5โปรแลนด์และสาธารณรัฐเช็ค (คะแนนเท่ากัน) ลำดับ6 เม็กซิโกและมาเลเซีย (คะแนนเท่ากัน) ลำดับ7 อังกฤษ และลำดับ8 สิงค์โปร์กับเกาหลีใต้ (คะแนนเท่ากัน) หากนับเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชีย ไทยติดอันดับที่3รองจากจีนและอินเดีย
จากผลการสำรวจพบว่า ประเทศต่างๆได้เร่งออกมาตรการและปรับการทำงานเพื่อแข่งขันดึงดูดโครงการลงทุน โดยแต่ละภูมิภาคมียุทธศาสตร์ไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มประเทศอาฟริกามักจะมุ่งการให้สิทธิประโยนชน์เพิ่มขึ้นมากกว่าการมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่กลุ่มประเทศ ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกมียุทธศาสตร์ตรงกันข้าม มุ่งการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายมากกว่ามุ่งการเพิ่มสิทธิประโยชน์--จบ--
-นท-