กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--วช.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนดจัดสัมมนาผลการวิจัย เรื่อง "การวิจัยและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเมทัลโลซีนสำหรับปฏิกิริยาการเตรียมพอลิโอเลฟิน" ในวันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม 2547 ณ ห้องบอลรูม เอบี โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร โดยมีนางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการวิจัย เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เวลา 09.00 น.
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทย เป็นที่ยอมรับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การกลั่นน้ำมัน การผลิตแก๊สต่างๆ การผลิตเม็ดพลาสติก เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ได้ช่วยสร้างงานขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศ เป็นการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้ในประเทศ ช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าต่างๆ ในปริมาณสูง และช่วยให้ประเทศไทยมีสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นหลายชนิดและในปริมาณที่มากขึ้น สำหรับการผลิตพอลิโอเลฟินในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส่วนใหญ่จะใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา ที่นิยมกันมากคือ ตัวเร่งปฏิกิริยาซีเกลอร์-แนตตา ซึ่งตัวเร่งประเภทนี้เมื่อใช้แล้วจะหลุดติดกับพอลิโอเลฟินที่ผลิตได้ (ในรูปที่เสื่อมสภาพแล้วและไม่เป็นอันตราย) และถือว่าเป็นการสิ้นเปลืองตัวเร่งปฏิกิริยาอย่างมาก จึงได้มีการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาใหม่ขึ้นมาทดแทนคือ ตัวเร่งปฏิกิริยาเมทัลโลซีน นอกจากจะให้ความว่องไวสูงกว่าตัวเร่งปฏิกิริยาแบบเก่าแล้วยังสามารถบังคับให้เกิดพอลิเมอร์ชนิดที่ต้องการได้ จึงนับได้ว่าตัวเร่งปฏิกิริยาเมทัลโลซีนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตพอลิเมอร์ชนิดต่างๆ ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยทำให้อุตสาหกรรมการผลิตพอลิเมอร์เข้าใจถึงความแตกต่างของตัวเร่งปฏิกิริยาเมทัลโลซีนและตัวเร่งปฏิกิริยาซีเกลอร์-แนตตาที่ใช้อยู่ในกระบวนการผลิตพอลิเมอร์ในปัจจุบัน และสามารถนำไปใช้ดัดแปลงกระบวนการผลิตเดิมมาใช้กับตัวเร่งปฏิกิริยาเมทัลโลซีนได้ นอกจากนี้ตัวเร่งปฏิกิริยาเมทัลโลซีนยังเหมาะสำหรับการทำโคพอลิเมอร์ ซึ่งสามารถเข้าไปในโครงสร้างพอลิเมอร์ได้มากกว่า จึงเหมาะในการผลิตพลาสโตเมอร์หรืออีลาสเตอร์
การจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการวิจัย เรื่อง "การวิจัยและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเมทัลโลซีนสำหรับปฏิกิริยาการเตรียมพอลิโอเลฟิน" ในครั้งนี้ เป็นการเผยแพร่ผลการวิจัยและองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวสู่หน่วยงานต่างๆ โดยนำเสนอในรูปของการอภิปรายและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมอภิปรายความคิดเห็น เพื่อนำข้อเสนอแนะหรือผลจากการอภิปรายไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตและการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ตลอดจนสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย คณะนักวิจัย วิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะทำงานติดตามและประเมินผลการวิจัยทางวิชาการ รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จำนวนประมาณ 150 คน --จบ--
-นท-
- พ.ย. ๒๕๖๗ กรมควบคุมโรค จับมือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมลงนาม MOU สร้างวิทยากรหลักสูตรการพัฒนานักวิจัย ตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 40 คน เพื่อถ่ายทอดสู่นักวิจัยรุ่นใหม่
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: กระทรวงอุตสาหกรรม MOU วช. ยกระดับพลาสติกไทย
- พ.ย. ๒๕๖๗ วช. แถลงข่าว “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2559 (Thailand Research Expo 2016)”