กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--กทม.
นางอารุณี รัศมิทัต รองผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด (สนร.) กทม. เปิดเผยความคืบหน้าของการสร้างพันธมิตรในการดำเนินโครงการ “เมืองสะอาด ฉลาดทิ้ง” เพื่อสร้างวินัยให้ประชาชนช่วยกันลดปริมาณขยะ ด้วยการแยกขยะจากแหล่งกำเนิดคือ จากบ้านเรือน และอาคารสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ช่วยกันปลูกจิตสำนึก ซึ่งสำนักรักษาความสะอาด ได้ขอจัดสรรงบประมาณให้แก่สำนักที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวร่วมดำเนินการนั้น ขณะนี้สำนักการศึกษาและสำนักการแพทย์กทม.ได้ ส่งโครงการเข้ามาแล้ว โดยสำนักการศึกษาจะนำงบประมาณที่ได้รับจัดสรร จำนวน 3 ล้านบาทไปดำเนินกิจกรรมในโรงเรียน 431 แห่งของกทม. ดังนี้ 1.ให้โรงเรียนจัดอบรมปฏิบัติการแก่ครู นักเรียน บุคลากรในโรงเรียน เรื่องการจัดการมูลฝอย การลดขยะ การแยกมูลฝอย และการนำเศษอาหารไปทำขยะหอมและปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ 2.ให้โรงเรียนจัดทำหลักสูตรการจัดการมูลฝอยบรรจุ ในหลักสูตรการศึกษา 3.ให้โรงเรียนจัดตั้งและดำเนินโครงการรีไซเคิล ธนาคารขยะ และศูนย์ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ในโรงเรียน 4.ให้สำนักงานเขต 50 เขต คัดเลือกโรงเรียนต้นแบบ เพื่อเป็นสถานที่ดูงานด้านการจัดการขยะ เขตละ 1 แห่ง ซึ่งทั้ง 4 กิจกรรมจะมีตัวชี้วัดในการลดปริมาณขยะ คือ โรงเรียนต้องสามารถลดปริมาณมูลฝอยที่จะนำไปทำลายให้เหลือเพียง 16%
ส่วนสำนักการแพทย์ได้รับจัดสรรงบประมาณ 2 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการ “โรงพยาบาลสะอาดฉลาดทิ้ง” เข้ามาโดยพุ่งเป้าที่จะลดปริมาณมูลฝอยให้ได้ 10 % ภายในปี 2547 โดยมีกิจกรรมจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการมูลฝอยในโรงพยาบาล การนำมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งมีการศึกษาดูงานหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่าง หลังจากนั้นจะจัดประกวด “โรงพยาบาลสะอาด ฉลาดทิ้ง” ต่อไป
รองผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กล่าวในที่สุดว่า นอกจาก 2 สำนักพันธมิตรนี้แล้ว อีก 2 สำนัก ได้แก่ สำนักพัฒนาชุมชน และสำนักอนามัยกำลังเร่งจัดทำโครงการส่งเข้ามาเช่นกัน ซึ่งสำนักรักษาความสะอาดจะพยายามขยายเครือข่ายพันธมิตรการทำงานออกไปเพื่อให้การลดปริมาณมูลฝอยเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และส่งผลให้กทม.สามารถประหยัดงบประมาณในการจัดการมูลฝอยได้มากขึ้นในที่สุด--จบ--
-นห-