สภากทม. เห็นชอบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย และการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น

ศุกร์ ๓๐ เมษายน ๒๐๐๔ ๑๕:๑๒
กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--กทม.
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 47 เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 3) ประจำปี พ.ศ. 2547 ได้พิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ…. ในวาระที่สองและวาระที่สาม
นายพงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางคอแหลม ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว กล่าวว่า ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ประสบปัญหามลพิษทางน้ำ เนื่องจากประชาชนและสถานประกอบการต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ปล่อยน้ำเสียสู่ทางระบายน้ำสาธารณะและไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่น้ำลำคลองเน่าเสียและมีกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง กรุงเทพมหานครจึงได้ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและได้เปิดเดินระบบแล้ว แต่การเดินระบบบำบัดน้ำเสียรวมต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินระบบบำบัดน้ำเสียรวม สมควรจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีการรวบรวมน้ำเสียไปบำบัด และมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 บัญญัติว่ากรุงเทพมหานครอาจออกข้อบัญญัติเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ จากผู้ซึ่งใช้หรือได้ประโยชน์จากการบริการสาธารณะที่กรุงเทพมหานครจัดให้มีขึ้นได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงได้ตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ขึ้น
ทั้งนี้ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบญัตติร่างข้อบัญญัติดังกล่าว โดยจะนำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาลงนามและประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต่อไป
นอกจากนี้ นายกวี ณ ลำปาง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพญาไทและคณะ เสนอญัตติ ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการปฏิรูปการศึกษา เนื่องด้วยในแต่ละปีกรุงเทพ-มหานครมีภารกิจในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนมากกว่า 300,000 คน เช่นในปี 2546 มีนักเรียนถึง 344,970 คน ครู 13,030 คน แต่กรุงเทพมหานครจัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาเพียง 2,233,125,400 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.13 ของงบประมาณทั้งหมด ในส่วนของงบประมาณค่าก่อสร้างปรับปรุงโรงเรียนซึ่งต้องขอจัดสรรไปยังสำนักงานเขตนั้น มักถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ในอันดับท้ายๆ ทำให้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการจัดสรร สำหรับงบประมาณค่าสัมมนาครูได้รับเขตละ 3,000 บาท ต่อปี เท่ากันทุกเขต ถึงจะมีจำนวนโรงเรียนในพื้นที่จำนวนไม่เท่ากัน เช่น ในพื้นที่เขตพญาไทมีโรงเรียนสังกัดกทม. เพียงโรงเรียนเดียว ส่วนในพื้นที่เขตหนองจอกมีถึง 37 โรงเรียน เป็นต้น สำหรับค่าซ่อมแซมโต๊ะเก้าอี้ได้รับโรงเรียนละ 700 บาท เท่าๆ กัน ทั้งโรงเรียนที่มีนักเรียนเพียงไม่กี่ร้อยคนหรือโรงเรียนที่มีนักเรียน 3,000-4,000 คน ซึ่งควรจะมีการปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสามารถรองรับการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ที่ประชุมสภากทม. ได้มีมติเห็นชอบญัตติดังกล่าว และจะนำเสนอฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ