กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงว่า ขณะนี้ตลาดดีบุกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ตั้งแต่ปลายปี 2546 และในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2547 ที่ผ่านมาราคาดีบุกที่ตลาดกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur Tim Market : KLTM) ยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยมีการปรับตัวสูงขึ้นจากระดับราคาเฉลี่ยเดือนมกราคม 2547 ที่ 6,520 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็น 7,570 เหรียญสหรัฐ/ตันในเดือนมีนาคม 2547 และปรับตัวสูงขึ้นอีกเป็น 9,500 เหรียญสหรัฐ/ตันเมือต้นเดือนเมษายน 2547 โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาดีบุกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากสต็อคดีบุกที่ตลาดโลหะลอนดอน (London Metal Exchange : LME) ลดลงอย่างต่อเนื่อง และประเทศผู้ใช้ดีบุกมีความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้น ตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งการเคลื่อนไหวของระดับราคาดีบุกที่สูงขึ้นในรอบกว่า 10 ปีนี้จะเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ประกอบการทำเหมืองหันมาฟื้นฟูกิจการ เพราะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในฐานะหน่วยงานราชการที่เป็นองค์กรหลักของประเทศในการบริหารจัดการและพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานให้เป็นไปอย่างมีดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดดีบุกถึงสาเหตุที่ทำให้ระดับราคาเพิ่มสูงขึ้น ดังนี้
ภาพรวมของตลาดดีบุก การซื้อขายดีบุกในประเทศไทยใช้ราคาตลาด KLTM และตลาด LME ส่วนการกำหนดราคาตลาดเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการประกาศราคาเพื่อเรียกเก็บค่าภาคหลวงแร่ดีบุกของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ใช้ราคาตลาด KLTM หากปรากฎว่าตลาด KLTM ไม่มีการซื้อขายติดต่อกันเกิน 3 วันทำการ ให้ใช้ราคาตลาด LME ในปี 2546 ราคาดีบุกมีทิศทางดีขึ้น กล่าวคือ ราคาเฉลี่ยดีบุกในตลาด KLTM เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 4,436-6,007 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนตลาด LME เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 4,443-6,287 เหรียญสหรัฐ/ตัน และในปี 2547 ราคาดีบุกได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยราคาเฉลี่ยดีบุกในตลาด KLTM เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 6,520-9,500 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนตลาด LME ระดับราคาอยู่ระหว่าง 6,485-9,245 เหรียญสหรัฐ/ตัน
สาเหตุที่ทำให้ระดับราคาดีบุกเพิ่มสูงขึ้น มาจากปัจจัย 2 ประการ ประการแรกคือ สต็อคดีบุกโลกลดลงจาก 51,700 ตัน ในปี 2544 เหลือ 35,000 ตัน ในปี 2546 โดยเฉพาะสต็อคที่ตลาด LME ลดลงจาก 30,600 ตัน ในปี 2544 เหลือเพียง 13,000 ตัน ในปี 2546 และปี 2547 ณ วันที่ 27 เมษายน 2547 เหลือเพียง 6,570 ตัน ส่วนสาเหตุประการที่ 2 คือ อุปสงค์โลหะดีบุกโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จนอุปทานโลหะดีบุกในตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยในปี 2546 ปริมาณความต้องการใช้โลหะดีบุกเพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ 6.6 ในขณะที่ผลผลิตโลหะดีบุกเพิ่มสูงขึ้นไม่ถึงร้อยละ 1 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของโลกมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ประเทศผู้ใช้ดีบุกมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตแร่และผู้ใช้โลหะดีบุกรายสำคัญ แม้จะมีผลผลิตแร่ดีบุกเพิ่มขึ้นจำนวน 9,700 ตันแต่ไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการใช้โลหะดีบุกในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 20 ได้ ประกอบกับผู้ผลิตแร่ดีบุกรายอื่น อาทิ อินโดนีเซีย บราซิล และออสเตรเลีย มีผลผลิตลดลง โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียผลผลิตลดลงประมาณ 10,000 ตัน
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ดีบุกทั้งหมด 87 เหมือง เปิดการทำเหมือง 20 เหมือง หยุดการทำเหือง 67 เหมือง เมื่อราคาดีบุกปรับตัวสูงขึ้น รัฐจะมีรายได้จากค่าภาคหลวงแร่ดีบุกที่เพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากรายได้ในการขายแร่เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการที่หยุดการทำเหมืองจะมีโอกาสฟื้นฟูกิจการทำเหมืองแร่ดีบุกใรอนาคตอันใกล้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการผลิตแร่และโลหะไม่สามารถเร่งผลผลิตให้มากขึ้นตามราคาดีบุกที่เพิ่มสูงขึ้นได้ เนื่องจากความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ลดน้อยลง พื้นที่ในการทำเหมืองมีอยู่จำกัดไม่สามารถขยายพื้นที่ได้
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะได้ติดตามสถานการณ์ตลาดดีบุกอย่างใกล้ชิดและจะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตแร่ดีบุกเพื่อสนองความต้องการของตลาด ซึ่งมีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มขึ้นมากกว่าการผลิตตลอดปี 2547 ท่านใดสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ถ.พระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 0-2202-3674 หรือที่ ฝ่ายช่วยอำนวยการและประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม โทรศัพท์ 0-2202-3555, 57, 65 โทรสาร 0-2644-8746--จบ--
-ลจ/นห-