กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (13 พ.ค.47) เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เขตพระนคร นพ.ปิตินันท์ ณัฐรุจิโรจน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 พระราช-บัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 และการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แก่ผู้แทนชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้สนับสนุนให้ผู้สูงอายุรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมสุขภาพและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันในรูปของสหพันธ์ผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2540 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบันมีชมรมผู้สูงอายุใน กทม.ทั้งสิ้น 173 ชมรม รวมมีสมาชิกประมาณ 20,000 คน และมีการรวมตัวกันในรูปของเครือข่ายหรือชมรมอื่นๆ ทั้งนี้ปัญหาที่พบมากที่สุดในกลุ่ม ผู้สูงอายุ คือ การดูแลและรักษาสุขภาพ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการด้านสุขภาพสูง
ดังนั้นจึงควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับจากการบริการสาธารณสุขตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกทม.กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้ตัวแทนชมรมผู้สูงอายุได้เข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ในระบบหลักประกันสุขภาพ และสามารถถ่ายทอดให้สมาชิกในชมรมหรือเครือข่ายได้รับทราบ รวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมสร้างหลักประกัน สุขภาพเพื่อประโยชน์ของตนเองและสังคมโดยรวม ตนมั่นใจว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ ไม่เพียงแต่ในกลุ่มสมาชิกเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผู้สูงอายุทั่วประเทศให้ได้รับการดูแลรักษาจากสถานพยาบาล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง และสามารถดำรงตนได้อย่างมีคุณภาพสมวัย เป็นการตอบแทนที่ผู้สูงอายุได้ทำคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การบรรยาย เรื่อง “ผู้สูงอายุ กับ ระบบหลักประกันสุขภาพ” โดย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การอภิปราย เรื่อง “ผู้สูงอายุได้อะไรจาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546” และการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพ ในหลากหลายประเด็น ได้แก่ ความเข้าใจแนวคิดของระบบหลักประกันสุขภาพ เป้าหมายของการสร้างหลักประกันสุขภาพ สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ ปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกัน สุขภาพ เกิดเป็นแนวทางร่วมกันระหว่างสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อไป--จบ--
-นห-