กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
นางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยว่า สผ.ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมและคณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล ดำเนินการสำรวจและประเมินคุณค่าแหล่งธรรมชาติทางทะเลเพื่อประกาศเป็นแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ทางทะเล ประเภทชายหาด : หาดทราย ซึ่งจากการสำรวจในครั้งนี้พบว่ามีหาดทรายที่เข้าเกณฑ์เป็นแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ทั้งสิ้น 141 แห่ง โดยแยกเป็นหาดทรายที่มีคุณค่าสูงจำนวน 21 ชายหาด และอีก 120 หาด มีคุณค่าในระดับปานกลาง
ทั้งนี้ สผ. จะนำเสนอการกำหนดมาตรการในการดูแล รักษา ป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ พร้อมกับรายชื่อแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ทางทะเลประเภทชายหาด : หาดทราย ทั้ง 141 แห่ง เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในการประกาศเป็นแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ต่อไป
นางอรพินท์ กล่าวว่า ในปัจจุบันแหล่งธรรมชาตินอกจากจะถูกทำลายโดยภัยธรรมชาติแล้ว ส่วนใหญ่ยังถูกทำลายโดยมนุษย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสื่อมโทรมอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เนื่องจากเป็นการนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยว การบุกรุกทำที่อยู่อาศัย เป็นต้น โดยกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะให้ผลตอบแทนในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะเป็นการทำลายแหล่งธรรมชาติที่มีคุณค่าและมีความสำคัญให้เสื่อมสภาพและไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการประกาศให้เป็นแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์
อย่างไรก็ตาม สำหรับชายหาดและหาดทรายทั้ง 141 แห่งดังกล่าว ได้ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งหมด 18 จังหวัด โดยแยกเป็นภาคใต้ 12 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ภูเก็ต สตูล ตรัง กระบี่ และพังงา ภาคตะวันตก 2 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ภาคตะวันออก 4 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด--จบ--
-นท-
- ธ.ค. ๒๕๖๗ อบรมหลักสูตร "การคัดแยกขยะพลาสติกเพื่อเพิ่มมูลค่า และการจัดการขยะชุมชนเพื่อลดไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม"
- ธ.ค. ๒๕๖๗ สบู่เหลวโพแทสเซียมจากน้ำมันพืชใช้แล้ว นักวิจัยจุฬาฯ หนุนชุมชนผลิต ลดวิกฤตสิ่งแวดล้อม สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน
- ธ.ค. ๒๕๖๗ สบู่เหลวโพแทสเซียมจากน้ำมันพืชใช้แล้ว นักวิจัยจุฬาฯ หนุนชุมชนผลิต ลดวิกฤตสิ่งแวดล้อม สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน