กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--บีโอไอ
กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือบีโอไอ เดินหน้างานส่งเสริมการลงทุนของคนไทย ระดมสมองผู้ว่าฯ ซีอีโอ หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ร่วมกำหนดยุทธสาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใน กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่าง พินิจให้การบ้านผู้ว่าฯ ซีอีโอสร้างเอสเอ็มอีไทยและเชื่อมโยงบริษัทขนาดใหญ่ให้ว่าจ้างเอสเอ็มอีไทยผลิตชิ้นส่วนมากยิ่งขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่อง "การประสานและเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่างกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน" ในวันนี้ (20 พ.ค. 2547) ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ พัทยา จ.ชลบุรี ร่วมกับ นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่าง ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 100 คน ว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการหารือแนวทางการประสานและเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การลงทุนในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่าง เพื่อที่บีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรมจะสามารถกำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานที่จะช่วยการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพของทั้ง 2 กลุ่มจังหวัด
" ผมอยากให้ผู้ว่าฯ ซีอีโอภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่างให้ความสำคัญกับการสร้างกิจการเอสเอ็มอีไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลที่เกี่ยวกับการแปรรูปอาหาร ตลอดจนการทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีอยู่กระจายงานออกมาให้กับกิจการเอสเอ็มอีของคนไทยมากขึ้น " รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
นายพินิจกล่าวด้วยว่า การสร้างกิจการเอสเอ็มอีของคนไทยจะต้องเป็นการสร้างอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ภาคบริการร้านอาหารในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงมาตรฐานความสะอาด หรือสินค้าหัตถกรรมก็ต้องมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีความทนทานและสวยงามตามความต้องการของตลาด
ด้านนายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า จากการหารือกับผู้ว่าฯ ซีอีโอ ภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่าง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ได้ข้อสรุปว่า ภาคตะวันออกมีกลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีศักยภาพมากมาย อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน ผักผลไม้แปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ภาคกลางตอนล่างก็มีศักยภาพในหลายกลุ่มเช่นกัน อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์
ปัจจุบัน บีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการและกลุ่มอุตสาหกรรมทุกประเภทที่กลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่างมีศักยภาพ ส่วนผลการประชุมในวันนี้ บีโอไอก็จะนำข้อเสนอของกลุ่มจังหวัดต่างๆ ไปประกอบการพิจารณาการจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของทั้ง 2 ภาค ซึ่งจังหวัดต่างๆ อาจต้องการให้เพิ่มกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีโครงการที่ต้องการให้บีโอไอช่วยผลักดันอย่างเร่งด่วนด้วย
สำหรับภาพรวมการลงทุนในภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด) ที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอตั้งแต่ปี 2541 - 2546 นั้น มีมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 94,978 ล้านบาท คิดเป็นการลงทุนประมาณ 37.5% ของการลงทุนทั้งประเทศ ส่วนปี 2546 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการลงทุนที่ขอรับส่งเสริมในภาคตะวันออกถึง 115,452 ล้านบาท
ในขณะที่ภาพรวมการลงทุนของภาคกลางตอนล่าง (ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นครนายก สระแก้ว ปราจีนบุรี) ในช่วงปี 2541 - 2546 นั้น มีมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 34,151 ล้านบาท คิดเป็นการลงทุนประมาณ 13.5% ของการลงทุนทั้งประเทศ และในปี 2546 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการลงทุนที่ขอรับส่งเสริมใน 5 จังหวัดภาคกลางตอนล่างประมาณ 41,314 ล้านบาท
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุดในภาคตะวันออกและภาคกล่างตอนล่างคือ ยานยนต์และชิ้นส่วน 41% รองลงมาเป็นเคมีภัณฑ์ 28% บริการ 14% เกษตร 6% อิเล็กทรอนิกส์และเหมืองแร่ 4% และอุตสาหกรรมเบา 3%--จบ--
-นท-
- พ.ย. ๒๕๖๗ กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือกับดีแทคเน็ตทำกิน นำดิจิทัลเชื่อมต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นยกระดับ "หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์" พร้อมฟื้นฟูการท่องเที่ยววิถีใหม่ ตั้งเป้ารายได้กว่า 250 ล้านบาท
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: ก.อุตฯ เปิดงาน Thailand Industry Expo 2019 อย่างยิ่งใหญ่ ชูแนวคิด “Synergy for Success” สานพลัง ร่วมใจ วิวัฒน์อุตสาหกรรมสู่อนาคต
- พ.ย. ๒๕๖๗ กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ กันตนา กรุ๊ปจัดกิจกรรม “ศึกษาเรียนรู้ผ้าทอ ลาวเวียง” ให้แก่นักออกแบบไทย ผู้เข้าร่วมโครงการ Thai Designer Academy