กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--ส.อ.ท.
ส.อ.ท.เดินหน้าสานสัมพันธ์การค้านักธุรกิจยูเครน รัสเซีย เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าอุตสาหกรรมเหล็ก น้ำตาล อาหาร ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนหวังให้เป็นประตูกระจายสินค้าไทยเจาะตลาดกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช CIS ในอนาคต
นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีนโยบายสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายการส่งออกสินค้าและเพิ่มสัดส่วนการลงทุนไปยังประเทศคู่ค้าใหม่ๆ เพื่อทดแทนตลาดเดิมที่ขณะนี้มีภาวะการแข่งขันสูง อีกทั้งบางแห่งผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญอุปสรรคการค้าจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTB) ในรูปแบบต่างๆ นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เห็นว่าเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงและได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายการค้าระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่มดังกล่าวให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2547 ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงได้จัดโครงการนำนักธุรกิจระดับสูงซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล กลุ่มอุตสาห-กรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดินทางเยือนสาธารณรัฐยูเครน และสหพันธรัฐรัสเซียเพื่อเยี่ยมคารวะผู้แทนภาครัฐบาลและภาคเอกชนระดับสูง ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน - วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 นี้ ซึ่งโครงการนำนักธุรกิจเยือน สาธารณรัฐยูเครนและสหพันธรัฐรัสเซียในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการดำเนินกิจกรรมครั้งแรกภายหลังจากที่สภาอุต-สาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมรัสเซีย (Russian Union of Industrialists and Entrepreneurs - RUIE) และกับ Ukrainian League of Industrialist and Entrepreneurs เพื่อประสานความร่วมมือในการเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุน การแลกเปลี่ยนสินค้า ข้อมูลทางวิชาการ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546 และ วันที่ 10 มีนาคม 2547 ที่ผ่านมา ตามลำดับ
สำหรับวัตถุประสงค์หลักในการเดินทางเยือนสาธารณรัฐยูเครน และสหพันธรัฐรัสเซียนั้น สภาอุต-สาหกรรมแห่งประเทศไทยมุ่งหวังที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศอันจะนำมาซึ่งการเอื้อประโยชน์ต่อการส่งเสริมการค้าและเพิ่มมูลค่าการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การเดินทางครั้งนี้ยังจะเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศทั้งสองต่อประเทศไทยเพื่อให้เกิดคู่ค้าใหม่ๆ ขึ้น จนเกิดการสร้างเครือข่ายด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันของผู้ส่งออกไทยไปยังภูมิภาคยุโรปตะวันออกและประเทศในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช หรือ CIS (Commonwealth of Independent States) อันประกอบไปด้วย รัสเซีย ยูเครน เบลารุส มอลโดวา คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เตริก์เมนิสถาน คีร์กิซสถาน ทาจิกิสถาน อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน และจอร์เจีย
ทั้งนี้ นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันแม้ว่าประเทศสหพันธรัฐรัสเซียจะเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทยในภูมิภาคยุโรปตะวันออกและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง แต่มูลค่าการค้าระหว่างกันของทั้งสองประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ คือ ในปี 2546 ไทยและสหพันธรัฐรัสเซีย มีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 845.2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกของไทยไปสหพันธรัฐรัสเซียส่วนใหญ่เป็น สินค้าในหมวดอุปโภคบริโภค ได้แก่ น้ำตาลทราย เครื่องคอมพิวเตอร์ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ข้าว อัญมณีและเครื่องประดับ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ขณะที่สินค้านำเข้าจากสหพันธรัฐรัสเซียที่สำคัญเป็นสินค้าอุตสาหกรรมและวัตถุดิบ ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า สินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะ ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ แร่ดิบ สำหรับสาธารณรัฐ ยูเครนซึ่งเป็นประเทศ คู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคยุโรปตะวันออกและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) (รองจากสหพันธรัฐรัสเซีย) พบว่า ในปี 2546 การค้าระหว่างไทยกับสาธารณรัฐยูเครนมีมูลค่า 256.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกไปยังสาธารณรัฐยูเครนที่สำคัญคือ น้ำตาลทราย รองเท้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญจากสาธารณรัฐยูเครน ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า น้ำมันดิบ สินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะ เคมีภัณฑ์ แร่ดิบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม
ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเห็นว่า ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งพัฒนาการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศให้ขยายตัวเร็วมากยิ่งขึ้น โดยสาธารณรัฐยูเครน มีความน่าสนใจเนื่องจากเป็นประเทศที่เป็นเมืองท่ามีทำเลในการคมนาคมขนส่ง เหมาะที่จะเป็นทั้งตลาดรองรับสินค้าและศูนย์กลางการขนส่งเชื่อมต่อกับประเทศในกลุ่ม CIS ต่างๆ สำหรับทางด้านประเทศสหพันธรัฐรัสเซียหลังจากที่เปลี่ยนเป็นประเทศเสรี-นิยมแล้ว ได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยลดการควบคุมของรัฐ ส่งผลให้เอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเสรีมากขึ้น และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยทั้งที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและบุคคลทั่วไป ได้เห็นภาพลู่ทางการค้าและการลงทุนในประเทศสหพันธรัฐรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สภาอุตสาห-กรรมแห่งประเทศไทยจึงได้จัดการสัมมนา เรื่อง "ลู่ทางการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในรัสเซียและ CIS" ขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม 2547 ระหว่างเวลา 9.00 - 12.00 น. ณ ห้องบอร์ดรูม1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาดังกล่าวจะได้รับฟังข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจกับสองประเทศดังกล่าวจาก นายสรยุตม์ พรหมพจน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก ในหัวข้อเรื่อง "ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศรัสเซีย และ CIS" และในหัวข้อเรื่อง "โอกาสทางการค้าและการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมไทยในรัสเซียและ CIS" จากนายวีระชัย นพสุวรรณวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก และนายวัฒนะ คุ้นวงศ์ ที่ปรึกษาเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
แผนกประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 229-4255 ต่อ 122 และ 123 โทรสาร 229-4054--จบ--
-นห-
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา นำพนักงานกว่า 400 คนร่วมทำความดีต้อนรับปีใหม่ในกิจกรรม “MKY’S CSR 2019”
- ม.ค. ๒๕๖๘ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) และสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย มอบชุดป้องกันความร้อนและเปลวไฟมาตรฐาน S-Mark แก่กระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้ในกิจกรรมบรรเทาสาธารณภัย
- ม.ค. ๒๕๖๘ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค นำทีมพนักงานกว่า 200 ชีวิต ร่วมกิจกรรม CSR “โครงการ MKY เพื่อชุมชนตำบลสองคลอง”