กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--สสวท.
ประธานบอร์ด สสวท.ชี้การวัดผลประเมินผลเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาการศึกษา ทั้งนี้ สสวท.ได้เริ่มพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลมาแล้วตั้งแต่ปี 2546 และขณะนี้ได้พัฒนาข้อสอบมาตรฐานและกำลังทดลองใช้ในโรงเรียนแกนนำของ สสวท. โดยจะกำหนดใช้จริงได้กับทุกโรงเรียนทั่วประเทศในปี 2549
จากการประชุมคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 357/3/2547 นายพรชัย มาตังคสมบัติ ประธานกรรมการ สสวท. กล่าวว่า สสวท.มีหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาเครื่องมือการวัดและประเมินผลวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งต้องติดตามด้วยว่าเด็กมีการพัฒนาทักษะกระบวนการ มีความสามารถในการประเมิน ประมวล วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากปัญหาของระบบการศึกษาไทยไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรนั้น ส่วนหนึ่งมาจากตัวข้อสอบซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นข้อสอบท่องจำ ดังนั้นเครื่องมือการวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะและความสามารถต่างๆ ของผู้เรียนจึงเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้การพัฒนาการศึกษาประสบผลสำเร็จจำเป็นจะต้องพัฒนาสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลให้สอดคล้องตามกันไป ทั้งนี้ในการพัฒนาสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ อาจจะเป็นแนวทางให้กลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นสามารถนำไปใช้ได้อีกด้วย
อนึ่ง ได้มีผู้เสนอความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่าขณะนี้ครูโดยทั่วไปยังไม่มีความพร้อมในการจัดทำเครื่องมือการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทำให้ข้อสอบในการวัดและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนส่วนใหญ่จะเป็นข้อสอบปรนัยที่เน้นความจำ จึงเห็นว่า การพัฒนาเครื่องมือการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีความจำเป็นมาก
ทั้งนี้คณะกรรมการ สสวท. ได้มีข้อเสนอแนะให้ สสวท. ประสานงานกับสถาบันอุดมศึกษา ที่มีความสนใจและมีโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลดังกล่าว รวมทั้งสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และศูนย์ทดสอบแห่งชาติที่จะตั้งขึ้นในอนาคตมาร่วมมือกันดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จและให้ สสวท.เตรียมกำลังบุคลากรและความพร้อมในด้านต่างๆ ให้เพียงพอต่อการดำเนินงานที่จะเผยแพร่ไปยังหน่วยงานอื่นอย่างทั่วถึง ผลจากการมีเครื่องมือวัดผลประเมินผลที่มีประสิทธิภาพจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ระบบศึกษาไทย คือ การจัดทำหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี และการวัดผลประเมินผลจะมีความสอดคล้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยมุ่งพัฒนาความคิดวิเคราะห์และความเข้าใจผู้เรียนเชิงลึก อันเป็นหัวใจสำคัญที่ผลักดันให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จได้ต่อไป--จบ--
-วว/d4-