กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--สนพ.
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เผยเคล็ดลับปฏิบัติการ 3 ขั้น เพื่อประหยัดน้ำมันและประหยัดเงิน
นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์แผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ภาวะราคาน้ำมันมีการผันผวนตลอดเวลา อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้รัฐและผู้ใช้รถต้องแบกรับภาระราคาน้ำมันที่แพงขึ้นอีก ดังนั้นหนทางที่จะทำให้ผู้ใช้รถจ่ายเงินค่าน้ำมันได้ลดน้อยลง ก็คือการประหยัดน้ำมัน โดยใช้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด สนพ.จึงมีแนวทางการปฏิบัติ 3 ขั้น มาแนะนำเพื่อช่วยให้ผู้ใช้รถประหยัดน้ำมันได้ ดังนี้
ปฏิบัติการขั้นที่ 1 “ขาดรถไม่ได้”
การปฏิบัติขั้นที่ 1 สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้รถทุกวัน มีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
วางแผนก่อนเดินทาง โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางในวันและช่วงเวลาที่มีผู้ใช้รถเป็นจำนวนมากๆ เพราะหากรถติดอยู่กับที่นาน 30 นาที จะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมัน 750 ซี.ซี. คิดเป็นเงิน 13.50 บาท (18 บาท/ลิตร) นอกจากนี้ยังทำให้เสียเวลาด้วย
ตรวจเช็คลมยาง สิ่งสำคัญสำหรับรถ คือ ยาง ก่อนใช้รถควรตรวจเช็คว่ายางสึกหรอถึงระดับต้องเปลี่ยนหรือยัง และควรเติมลมยางให้เหมาะสมตามที่กำหนด เนื่องจากยางสึกหรอหรือลมอ่อนจะทำให้การทรงตัวของรถไม่ดี และสิ้นเปลืองน้ำมัน และหากความดันลมยางต่ำกว่ามาตรฐานทุก 1 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว จะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มขึ้น 2% เช่น ยางขนาด 195 มิลลิเมตร (มม.) ควรเติมลมยางขณะไม่บรรทุก 26 ปอนด์ และยางขนาด 205-235 มม. ควรเติมลมยางขณะไม่บรรทุก 26-29 ปอนด์ เป็นต้น
เป่าไส้กรองอากาศ การทำความสะอาดไส้กรองอากาศทุกๆ 2,500 กม./ชม. หรือทุกๆ 2-4 สัปดาห์ เพราะถ้าไส้กรองอากาศไม่สะอาดแล้ว จะทำสิ้นเปลืองน้ำมัน วันละ 65 ซีซี.
ขับรถด้วยความเร็วที่เหมาะสม การไม่ขับรถเร็วจนเกินไป ไม่แซงโดยไม่จำเป็น จะประหยัดได้ประมาณ 20% สำหรับอัตราความเร็วที่เหมาะสมในการประหยัดน้ำมันได้มากที่สุดคือ 60-80 กม./ชม. และความเร็วสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับทางธรรมดา คือ 90 กม./ชม.บนทางด่วน 110 กม./ชม.และบนทางมอเตอร์เวย์ 120 กม/ชม.
บรรทุกของเท่าที่จำเป็น จะช่วยประหยัดได้ประมาณ 15% หากขับรถโดยบรรทุกของที่ไม่จำเป็นประมาณ 10 กิโลกรัม เป็นระยะทาง 25 กิโลเมตร จะสิ้นเปลืองน้ำมัน 40 ซีซี .
ปฏิบัติการขั้นที่ 2 “ลดใช้รถ”
การปฏิบัติการขั้นที่ 2 สำหรับบ้านที่มีรถหลายๆ คัน หรือ เพื่อนบ้านที่เดินทางไปทำงาน เส้นทางเดียวกัน หรือที่หมายใกล้กัน มีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
ทางเดียวกัน…ไปด้วยกัน (Car Pool) เวลาไปไหนมาไหนที่หมายเดียวกัน ทางผ่าน หรือใกล้เคียงกัน ควรไปรถคันเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยแก้ปัญหารถติดได้ นอกจากนี้ยังช่วยทำให้เราเพลิดเพลิน ช่วยให้ครอบครัวอบอุ่น และมีเพื่อนคุยตลอดการเดินทางด้วย
ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ในบางวันที่ไม่อยากขับรถ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวมาทำงาน ก็เปลี่ยนมาใช้รถบริการรถสาธารณะบ้าง…ในบางวัน เช่น รถโดยสารประจำทาง หรือรถเมล์ ซึ่งเป็นรถสาธารณะที่ประหยัดที่สุด เรือโดยสาร รถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งประโยชน์ที่ได้ ก็คือ ช่วยประหยัดค่าน้ำมัน ประหยัดค่าบำรุงรักษารถยนต์ ลดมลพิษทางอากาศ และที่สำคัญช่วยทำให้การจรติดขัดน้อยลง
ปฏิบัติการขั้นที่ 3 “ใช้อุปกรณ์สื่อสารแทนเดินทาง”
ปฏิบัติการขั้นที่ 3 ใช้การสื่อสารแทนการเดินทางไปติดต่องานด้วยตัวเอง มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
ใช้อุปกรณ์สื่อสารแทนการเดินทาง เพราะโลกการสื่อสารในปัจจุบันนับว่ารวดเร็วและสะดวกมาก ดังนั้นการติดต่อกันทางโทรศัพท์ โทรสาร ไปรษณีย์ อินเตอร์เน็ต จดหมายเล็กโทรนิกส์ (E-mail) หรือการใช้บริการส่งเอกสารแทนการเดินทางจะช่วยให้ประหยัดน้ำมัน และประหยัดเวลาไปได้มากทีเดียว
แนวทางการปฏิบัติทั้ง 3 ขั้น หากผู้ใช้รถนำไปปฏิบัติได้อย่างน้อย 1 ขั้น ก็จะช่วยลดภาระการจ่ายค่าน้ำมันลงได้ นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าตัวเอง และประหยัดเงินให้ประเทศชาติอีกด้วย--จบ--
-นท-