กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์-กรุงเทพฯฯ/สิงค์โปร์-3 มิถุนายน 2547: บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศที่ 'A-(tha)'(A ลบ (tha)) แก่ตั๋วแลกเงินไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิอัตราดอกเบี้ยคงที่ จำนวน 1.2 พันล้านบาทของธนาคารธนชาติ ในขณะเดียวกันฟิทช์ ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร ระยะยาวที่ระดับ 'A-(tha)'(A ลบ (tha))แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ระยะสั้นที่ระดับ 'F2(tha)' อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ระดับ 'D'และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ระดับ '5' อันดับเครดิตเหล่านี้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเงินกองทุน และศักยภาพในการทำกำไรในอนาคตของธนาคาร รวมถึงการสนับสนุนด้านการดำเนินงาน สภาพคล่อง และเงินกองทุนจากบริษัทเงินทุนธนชาติ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงหลักซึ่งได้แก่ การที่ธนาคารเพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ธนาคารยังไม่มีเครือข่ายทางธุรกิจธนาคารและเครือข่ายทางด้านเงินฝากที่แข็งแกร่ง รวมถึงการถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์
เมื่อพิจารณาปัจจัยบางตัว ธนาคารธนชาตินับว่าเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งแห่งหนึ่งในประเทศไทยเนื่องจากมีหนี้เสียที่ต่ำ ระดับสำรองหนี้สูญที่สูง และเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารยังคงถูกจำกัดจากการที่ธนาคารเพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจ ธนาคารธนชาติมีกำไรสุทธิที่ 420 ล้านบาทในปี 2546 เพิ่มขึ้นจาก 392 ล้านบาทในปีก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ย และเงินปันผลจากการลงทุน การเพิ่มขึ้นของกำไรจากการลงทุน การเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและกำไรที่ได้จากการขายสินทรัพย์รอการขาย ผลการดำเนินงานของธนาคารในไตรมาสแรกของปี 2547 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 26.3% เป็น 144 ล้านบาท จาก 114.6 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2546 เนื่องจาก การลดลงของ ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ และค่าเผื่อหนี้สูญแม้ว่าการเพิ่มขึ้นของการปล่อยสินเชื่อจะยังไม่มาก เครือข่ายทางธุรกิจและผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาติ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่ ธุรกิจเงินทุน (ซึ่งเปิดดำเนินงานมาเป็นเวลานานกว่า) ถูกโอนจากบริษัทเงินทุนธนชาติมายังธนาคาร
ถึงแม้ว่าในขณะนี้ธนาคารธนชาติจะมีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ค่อนข้างต่ำและมีระดับการกันสำรองหนี้สูญที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น กลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อเชิงรุกของกลุ่มบริษัทเงินทุนธนชาติ และระดับหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างของธนาคารธนชาติที่ยังคงมีอยู่มาก ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่คุณภาพของสินทรัพย์ของธนาคารอาจถดถอยลง และทำให้ธนาคารต้องกันสำรองเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2547 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอยู่ที่ 1.9 พันล้านบาท หรือ 5.7%ของสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 655.6 ล้านบาท หรือ 2% ณ สิ้นปี 2545 ส่วนระดับสำรองหนี้สูญของธนาคารอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2547 หรือ คิดเป็น 73.4 %ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
กลุ่มบริษัทเงินทุนธนชาติ คาดว่าจะทำการรวมกิจการธนาคารและเงินทุนไว้ที่ธนาคารธนชาติ ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2547 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของทางการ แผนการควบรวมกิจการเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลอนุมัติแผนแม่บทพัฒนาสถาบันการเงินซึ่งส่งเสริมการควบรวมกิจการภายในภาคธุรกิจสถาบันการเงิน บริษัทเงินทุนธนชาติมีแผนในช่วงแรกที่จะโอนสินทรัพย์และหนี้สินส่วนใหญ่ ยกเว้นเงินลงทุนและลูกหนี้เช่าซื้อที่มีอยู่ในปัจจุบันไปยังธนาคารธนชาติ การโอนจะทำให้เงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารธนชาติลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่งที่ 22.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2547 อย่างไรก็ตาม แผนเพิ่มทุนของธนาคารธนชาติ หลังจากการรวมกิจการ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเงินทุนธนชาติ จะช่วยทำให้เงินกองทุนของธนาคารธนชาติแข็งแกร่งขึ้นมา การรวมกิจการและการดำเนินงานของกลุ่ม ยังจะทำให้ธนาคารธนชาติ เป็นองค์กรใหม่ที่ใหญ่ขึ้นและมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นในระยะปานกลาง
หมายเหตุ : อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสนับสนุนของฟิทช์
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของฟิทช์วิเคราะห์ถึงสถานะทางการเงินของธนาคารเมื่อไม่มีปัจจัยช่วยเหลือภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง อันดับเครดิตสนับสนุนวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการที่ทางธนาคารจะได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น หรือ จากรัฐบาลถ้าทางธนาคารประสบปัญหา อันดับเครดิตนี้ไม่ใช่อันดับเครดิตของหนี้ แต่เป็นอันดับความแข่งแกร่งของสถานะการเงินของธนาคาร และระดับการสนับสนุนจากภายนอกซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีให้ทางธนาคารก็ได้
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963--จบ--
-นท-
- ๒๔ ธ.ค. ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บจก.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ในเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ
- ๒๔ ธ.ค. GC พร้อมเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ 4-12 ธันวาคมนี้ ชูดอกเบี้ย 5 ปี 6 เดือนที่ 5.25% ฟิทช์ เรทติ้งส์ ยืนยันความน่าเชื่อถือของบริษัทและหุ้นกู้คงเดิม ที่ AA(tha) และ A+(tha)
- ๒๔ ธ.ค. EXIM BANK โชว์สถานะทางการเงินแข็งแกร่ง คงอันดับเครดิตสูงสุดในประเทศ ระดับ AAA(tha) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ BBB+ เท่ากับประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12