กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.47) เวลา 11.00 น. ที่ห้องอเนกประสงค์ ศาลาว่าการกทม. คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวกรณีห้างนิวเวิลด์ โดยมีนายธะนะกร คุณาวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายนิยม กรรณสูต รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา และนายโกสิน เทศวงษ์ ผู้อำนวยการเขตพระนคร ร่วมชี้แจง
ยื้อ 10 ปี รื้อถอนส่วนต่อเติม
ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์พื้นบริเวณ ชั้น 8 ของอาคารห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ บางลำพู ทรุดตัวลงมายังชั้นที่ 1 บริเวณใกล้ทางออกของห้างฯ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.47 เวลาประมาณ 10.00 น. ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 5 ราย และบาดเจ็บสาหัส 2 ราย ซึ่งได้เสียชีวิตแล้ว 1 รายนั้น
กรุงเทพมหานคร ขอชี้แจงว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ โดยกทม.ได้ร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งรื้อถอนอาคารดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2537 และได้ต่อสู้คดีจนศาลฎีกามีคำสั่งให้บริษัทแก้วฟ้า ช็อปปิ้งอาเขต จำกัด เจ้าของอาคารดังกล่าวรื้อถอนอาคารตั้งแต่ชั้น 5-11 ซึ่งเป็นชั้นที่ต่อเติมผิดกฎหมาย ซึ่งหากเจ้าของอาคารไม่ยอมรื้อถอน กทม.สามารถเข้ารื้อถอนเองได้ โดยเรียกค่าใช้จ่ายจากเจ้าของอาคาร ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบันกทม.ได้ดำเนินการเข้าบังคับคดี พร้อมตรวจสอบการรื้อถอนอาคารดังกล่าวมาโดยตลอด และเห็นว่ามีความล่าช้า จึงเตรียมการเข้าทำการรื้อถอนเอง แต่เนื่องจากกทม.ไม่มีความชำนาญ จึงได้ประกวดราคาหากบริษัทที่มีความชำนาญเข้าดำเนินการโดยได้จัดทำเงื่อนไขประกวดราคา (TOR) ซึ่งกำหนดวงเงินค่ารื้อถอนไว้ 36 ล้านบาท โดยมีวิธีการรื้อถอนที่ปลอดภัย ใช้เครนขนาดใหญ่ขนย้ายวัสดุจากชั้นสูงลงมาชั้นล่าง ไม่ต้องลำเลียงผ่านชั้นต่าง ๆ อย่างไรก็ดีทางเจ้าของห้างเห็นว่างบประมาณรื้อถอนจำนวนดังกล่าวสูงเกินไป จึงได้ทำการรื้อถอนเอง โดยไม่เป็นไปตามวิธีการที่ ถูกต้องคือ รื้อตั้งแต่ชั้น 11 ถึงชั้น 9 แล้วนำเศษวัสดุมากองรวมกันไว้ที่พื้นบริเวณชั้น 8 จนเป็นเหตุให้พื้นอาคารชำรุดทรุดตัวลงมาบริเวณชั้น 1 ดังกล่าว
หวั่นน้ำฝนเพิ่มน้ำหนักวัสดุก่อสร้าง
ผู้อำนวยการเขตพระนคร กล่าวต่อว่า ในการที่กทม.จะขอเข้ารื้อถอนอาคารเองนั้น กทม.จำเป็นต้องยื่นเรื่องต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลสั่งให้กทม.เป็นผู้รื้อถอน ซึ่งศาลแพ่งได้รับคำร้องและนัดพิจารณาในวันที่ 19 ก.ค.47 แต่ได้เกิดเหตุขึ้นมาก่อน ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น และอาคารอยู่ในลักษณะที่เป็นภยันตราย รวมทั้งมีวัสดุก่อสร้างกองค้างอยู่ในอาคารอีกเป็นจำนวนมาก ประกอบกับในช่วงฤดูฝนน้ำฝนจะเพิ่มน้ำหนักให้กองวัสดุ อาจจะเกิดเหตุซ้ำสองขึ้นได้ กทม.จึงจะยื่นขอให้ศาลเร่งไต่สวนให้เร็วขึ้น และในระหว่างนี้ เขตพระนครได้ปิดกั้นพื้นที่ทางเข้า — ออก ด้านถนนจักรพงษ์ และถนนไกรสีห์ โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจเข้าควบคุม ดูแลรักษาพื้นที่เพื่อห้ามมิให้บุคคลลักลอบเข้าไปในบริเวณอาคารโดยเด็ดขาดตลอดเวลา รวมทั้งประกาศให้อาคารดังกล่าวเป็นอาคารที่อาจเป็นภยันตราย โดยมีคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น ลงวันที่ 3 มิ.ย.47 ห้ามใช้อาคาร หรือยินยอมให้ผู้ใดใช้อาคารที่อาจเป็นภยันตราย และปิดคำสั่งไว้บริเวณทางเข้าออกอาคารแล้ว นอกจากนี้ เขตพระนครยังห้ามผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยทำการค้าบริเวณ ทางเท้าอาคารด้านที่เสี่ยงภัยและได้เชิญประชุมผู้ค้าโดยรอบอาคาร เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ และให้หลีกเลี่ยงการค้าขายบริเวณ ใกล้เคียงอาคารดังกล่าว พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขันตลอดเวลา
พิจารณาให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตตามหลักมนุษยธรรม
ในส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตนได้ไปเยี่ยมอาการของผู้บาดเจ็บสาหัสจากการถูกวัสดุก่อสร้างหล่นลงมาทับทั้ง 2 รายที่วชิรพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.47 และในวันนี้ (7 มิ.ย.47) ผู้บาดเจ็บ 1 ใน 2 ราย ได้เสียชีวิตแล้ว คือ น.ส.สดานันท์ จันทอง อายุ 28 ปี ลูกจ้างร้านตัดผม เกย์ — คัท ทั้งนี้ตามหลักฎหมายเจ้าของอาคารและวิศวกรผู้ควบคุมการรื้อถอนอาคารจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ กรณีที่เป็นเจ้าของโรงเรือน มีสิ่งของตกหล่นลงมาจากโรงเรือนนั้น ๆ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย และกรณีกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทแก้วฟ้า ช็อปปิ้งอาเขต จำกัด จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่กรุงเทพมหานครก็พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตตามหลักมนุษยธรรม โดยได้ให้วชิรพยาบาลดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่มาตั้งแต่เข้ารับการรักษาพยาบาล เมื่อผู้ป่วยรายหนึ่งเสียชีวิตก็ได้ช่วยเหลือในเรื่องการรับศพไปบำเพ็ญกุศลที่ภูมิลำเนาในจ.นครศรีธรรมราช และจากการตรวจสอบเรื่องประกันสังคม พบว่าร้านตัดผมดังกล่าวไม่ได้ทำประกันสังคมให้ลูกจ้างแต่ก็สามารถบังคับให้นายจ้างทำประกันสังคมย้อนหลัง ครอบครัวผู้เสียชีวิตจึงจะได้รับเงินในส่วนนี้ด้วย
กวดขันอาคารผิดกฎหมายทั่วกรุง
ด้านรองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวว่า สำหรับอาคารผิดกฎหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น กทม.มิได้นิ่งนอนใจ ได้ออกตรวจสอบติดตามและยื่นฟ้องศาลดำเนินการกับเจ้าของอาคารหลายแห่ง ซึ่งบางกรณีอาจบังคับคดีได้ล่าช้า เนื่องจากกทม.ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งนี้ อาคารที่ทำผิดกฎหมายในกทม.มี 3 ประเภท คือ 1.สร้างผิดไปจากแบบ ทั้งที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาต หากการก่อสร้างไม่ผิดหลักกฎหมาย กทม.จะให้ยื่นขออนุญาตให้ถูกต้อง และปรับเป็นรายวัน 2.สร้างอาคารผิดแบบ โดยไม่สามารถขออนุญาตได้ กทม.จะบังคับให้แก้ไขให้ถูกต้องตามแบบ 3.สร้างแล้วไม่มั่นคงแข็งแรง กทม.จะยื่นฟ้องให้เจ้าของรื้อถอน ถ้าไม่รื้อถอน กทม.จะรื้อถอนเอง
ผู้อำนวยการเขตพระนคร กล่าวด้วยว่า สำหรับตัวอย่างอาคารผิดกฎหมายที่กทม.ได้ติดตามดำเนินการบังคับคดีอยู่ขณะนี้ นั้น เช่น อาคารห้างบางลำพูสรรพสินค้า มีคำสั่งศาลให้รื้อชั้น 5-7 ซึ่งเจ้าของอาคารได้รื้อด้านหลังเองไปประมาณ 50 % ส่วนด้านหน้าอาคารมีปัญหาติดขัดเป็นย่านสัญจรของประชาชน ซึ่งหากทางห้างไม่รื้อต่อ กทม.จะเข้าทำการรื้อถอนให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา โดยตั้งคณะกรรมการประมาณราคา ขออนุมัติงบกลาง แล้วให้วิศวกรเข้าไปตรวจสอบ จากนั้นจะร้องขอต่อศาลให้ปิดชั้นที่ศาลไม่ได้สั่งให้รื้อถอน ก่อนเข้าดำเนินการรื้อถอนต่อไป ส่วนห้าง ATM พาหุรัด ภายหลังเกิดไฟไหม้ กทม.ได้ให้รื้อถอนทั้งอาคาร แต่เจ้าของได้ยื่นขอต่อศาลไม่ให้รื้อถอนทั้งหมด ซึ่งศาลได้ยกฟ้อง แต่เจ้าของได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อ ขณะนี้เรื่องจึงอยู่ที่ศาลปกครอง ห้างตั้งฮั่วเส็งธนบุรี มีการต่อเติมอาคารเป็นช่วง ๆ ซึ่งเขตพระนครได้รวบรวมหลักฐานให้สำนักเทศกิจตรวจสอบแล้ว นอกจากนี้ยังมีห้างเซ็นทรัลวังบูรพาซึ่งต่อเติมชั้น 5-6 ซึ่งกทม.ได้ประมาณการค่ารื้อถอนแล้ว ประมาณ 4 ล้านบาทเศษ โดยจะเข้าดำเนินการต่อไป ส่วนกรณีห้างเมอรี่คิงวังบูรพานั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของใหม่ และมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการใหม่ทั้งหมด ซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ใหม่ต้องรับโอนรับผิดชอบไปด้วย และกทม.ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงยื่นเรื่องฟ้องและบังคับคดีกับเจ้าของใหม่ด้วย--จบ--
-นห-