กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงการร่วมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างแผนปฏิบัติการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าว่า
สผ.ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์
เนื่องจากเห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนจะเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน
“จากสภาวะการณ์ในปัจจุบัน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนในการดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว
ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไป
ซึ่งจะต้องมีจิตสำนึกในการตระหนักถึงประโยชน์ของส่วนรวม โดยถือว่าเป็นบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญในฐานะพลเมืองไทยที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นมรดกของคนไทยทุกคนให้อยู่เป็นความภาคภูมิ ใจของคนไทยตลอดไป ดังที่ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์อย่างยั่งยืนเป็นบทบาทและหน้าที่ของคนไทยทุกคน” นางอรพินท์ กล่าว
สำหรับพื้นที่เป้าหมายหลักที่จะดำเนินโครงการตามแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์นั้น ได้แก่พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร 7 เขต 18 แขวง ดังนี้
1.เขตพระนคร มี 11 แขวง ประกอบด้วย แขวงชนะสงคราม, แขวงตลาดยอด, แขวงวัดบวรนิเวศน์, แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ, แขวงเสาชิงช้า, แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงวัดราชบพิธ, แขวงสำราญราษฎร์, แขวงวังบูรพาภิรมย์, แขวงวัดบ้านพานถม และแขวงวัดสามพระยา
2. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มี 1 แขวง คือ แขวงบ้านบาตร
3.เขตบางพลัด มี 1 แขวง คือ แขวงบางยี่ขัน
4.เขตธนบุรี มี 1 แขวง คือ แขวงวัดกัลยาณ์
5. เขตคลองสาน มี 1 แขวง คือ แขวงสมเด็จเจ้าพระยา
6.เขตบางกอกน้อย มี 2 แขวง คือ แขวงอรุณอมรินทร์ และแขวงศิริราช
7.เขตบางกอกใหญ่ มี 1 แขวง คือ แขวงวัดอรุณ
นางอรพินท์ กล่าว่า ในร่างแผนปฏิบัติการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์นี้ ประกอบด้วย 3 แผนงานหลักที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งได้แก่
1. แผนงานด้านการสร้างและส่งเสริมการรับรู้
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ให้กับผู้รับผิดชอบโครงการและประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น
2. แผนงานด้านการสร้างสีสันและบรรยากาศ เช่น การจัดนิทรรศการและอภิปรายเชิงวิชาการ เป็นต้น และ
3. แผนงานด้านการสร้างกลไกและโครงการต้นแบบการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดีสำหรับงบประมาณที่จะใช้สำหรับแผนปฏิบัติการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์นี้ ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 18 ล้านบาท ซึ่งหากได้มีการผ่านร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าวแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการดำเนินงานตามแผนที่ได้วางไว้ โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 — กันยายน 2550
ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักส่งเสริมและเผยแพร่
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
49 พระราม 6 ซอย 30 ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ 10400 http://www.deqp.go.th.
โทรศัพท์/โทรสาร: 0-2298-5852-3--จบ--
-นท-