ผลการศึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาแหล่งแร่ทรายแก้วใน 6 จังหวัดภาคใต้

อังคาร ๒๒ มิถุนายน ๒๐๐๔ ๑๓:๔๒
กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผลการศึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาแหล่งแร่ทรายแก้วในเขตพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ 6 จังหวัดภาคใต้
นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงผลการศึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาแหล่งแร่ทรายแก้วในเขตพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่หรือเขตเศรษฐกิจแร่ 6 จังหวัดภาคใต้ คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ชุมพร ตรัง ปัตตานี และกระบี่ รวมพื้นที่ที่ศึกษาทั้งหมดประมาณ 140,745 ไร่ พบพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้วที่มีความเหมาะสมต่อการพัฒนาประมาณ 73,938 ไร่ มีปริมาณแร่ทรายแก้วสำรองประมาณ 509.57 ล้านเมตริกตัน
จากการที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ว่าจ้างบริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาแหล่งแร่ทรายแก้วในเขตพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่หรือเขตเศรษฐกิจแร่ (จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ชุมพร ตรัง ปัตตานี และกระบี่) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเขตศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้วในบริเวณภาคใต้พร้อมจัดทำแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพข้อจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบผลตอบแทนในการพัฒนาเพื่อการทำเหมืองแร่กับการพัฒนาในเชิงธุรกิจอื่นๆ ในเขตศักยภาพแหล่งแร่ ผลการศึกษามีรายละเอียดดังนี้
1. การกำหนดพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้วที่เหมาะสมต่อการพัฒนา ได้แก่
- แหล่งแร่ทรายแก้ว จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่แหล่งแร่ 5 แหล่ง คือ พื้นที่แหล่งแร่ อำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอพรหมคีรี และอำเภอเมือง มีพื้นที่ประมาณ 52,860 ไร่ มีปริมาณแร่สำรองรวมประมาณ 456.05 ล้านเมตริกตัน เป็นพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทั้งหมด 34,530 ไร่ มีปริมาณแร่สำรอง 309.73 ล้านเมตริกตัน
- แหล่งแร่ทรายแก้ว จังหวัดสงขลา มีพื้นที่แหล่งแร่ 3 แหล่ง คือ พื้นที่แหล่งแร่ อำเภอเมือง อำเภอจะนะ และอำเภอเทพา มีพื้นที่ประมาณ 27,389 ไร่ มีปริมาณแร่สำรองรวมประมาณ 125.3 ล้านเมตริกตัน เป็นพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทั้งหมด 22,393 ไร่ มีปริมาณแร่สำรอง 101.20 ล้านเมตริกตัน
- แหล่งแร่ทรายแก้ว จังหวัดชุมพร มีพื้นที่แหล่งแร่ 5 แหล่ง คือ พื้นที่แหล่งแร่ อำเภอเมือง อำเภอประทิว อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก และอำเภอหลังสวน มีพื้นที่ประมาณ 14,850 ไร่ มีปริมาณแร่สำรองรวมประมาณ 73.01 ล้านเมตริกตัน เป็นพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทั้งหมด 7,559 ไร่ มีปริมาณแร่สำรอง 39.59 ล้านเมตริกตัน
- แหล่งแร่ทรายแก้ว จังหวัดตรัง มีพื้นที่แหล่งแร่ 2 แหล่ง คือ พื้นที่แหล่งแร่ อำเภอสิเกา และอำเภอกันตัง มีพื้นที่ประมาณ 15,411 ไร่ มีปริมาณแร่สำรองรวมประมาณ 78.92 ล้านเมตริกตัน เป็นพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทั้งหมด 1,725 ไร่ มีปริมาณแร่สำรอง 10.56 ล้านเมตริกตัน
- แหล่งแร่ทรายแก้ว จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่แหล่งแร่ 1 แหล่ง คือ พื้นที่แหล่งแร่ อำเภอยะหริ่ง และมายอ มีพื้นที่ประมาณ 4,318 ไร่ มีปริมาณแร่สำรองรวมประมาณ 25.70 ล้านเมตริกตัน เป็นพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทั้งหมด 3,714 ไร่ มีปริมาณแร่สำรอง 22.99 ล้านเมตริกตัน
- แหล่งแร่ทรายแก้ว จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่แหล่งแร่ 2 แหล่ง คือ พื้นที่แหล่งแร่ อำเภอเหนือคลอง และอำเภอเกาะลันตา มีพื้นที่ประมาณ 25,917 ไร่ มีปริมาณแร่สำรองรวมประมาณ 139.10 ล้านเมตริกตัน เป็นพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทั้งหมด 4,017 ไร่ มีปริมาณแร่สำรอง 25.50 ล้านเมตริกตัน
2. การจัดลำดับความเหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้ว ได้พิจารณาจากความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนาเหมืองแร่ และด้านขนส่ง โดยการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้ ผลการจัดลำดับในการพัฒนาพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ จะแบ่งออกเป็น 2 กรณีได้แก่
- กรณีที่ 1 ศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตแก้วอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก (ปัจจุบันศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตแก้วตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง) พื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้วที่เหมาะสมในการพัฒนา 3 อันดับแรก คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลาหรือชุมพร และตรัง ตามลำดับ
- กรณีที่ 2 หากมีการตั้งศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตแก้วในพื้นที่ภาคใต้ โดยอาจตั้งขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือสงขลา พื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้วที่เหมาะสมในการพัฒนาที่สุด คือ จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตแก้ว
3. การศึกษาวิเคราะห์โครงการทางด้านเศรษฐศาสตร์ในพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้ว ได้ทำการวิเคราะห์จากต้นทุนและผลตอบแทนทางการเงินของพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้ว โดยเมื่อพิจารณาจากภาพรวมของพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้วทุกแห่ง พบว่า แนวทางที่เหมาะสมสำหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้ว คือ การทำเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ก่อนแล้วจึงฟื้นฟูที่เพื่อทำธุรกิจอื่น
4. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทรายแก้ว พบว่า พื้นที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ไม่มีข้อจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อมในระดับที่รุนแรง แต่ต้องมีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการเมื่อสิ้นสุดการทำเหมือง และมาตรการในการติดตามตรวจสอบที่เหมาะสม
แร่ทรายแก้ว เป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายๆ ประเภทที่ล้วนแต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตแก้ว อุตสาหกรรมกระจก อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมหล่อโลหะ อุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมจะมีปริมาณความต้องการใช้ทรายแก้วแตกต่างกันไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตแร่ทรายแก้วปีละ 1.3 ล้านเมตริกตัน จังหวัดระยอง ผลิตแร่ได้ 1 ล้านเมตริกตัน และจันทบุรี ผลิตแร่ได้ 0.3 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 453 ล้านบาท และใช้เป็นวัตถุดิบในประเทศ 1.2 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 430 ล้านบาท
ผู้ที่สนใจต้องการข้อมูล และรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ถนนพระราม 6 ราชเทวี กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2245-9391 หรือ 0-2202-3741 โทรสาร 0-2202-3681--จบ--
-วว/นท-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version