กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--วช.
หลอดเลือดหัวใจตีบและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บเค้นอกแปรผันและจะตายอย่างเฉียบพลัน หากว่าเกิดอาการแทรกซ้อนของกล้ามเนื้อหัวใจ การรักษาที่เป็นมาตรฐานในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่เห็นเด่นชัด
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล และคณะ จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ทำการวิจัยเรื่อง “การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน” โดยใช้กลุ่มผู้ป่วยอายุเกินกว่า 60 ปี จำนวน 93 ราย ที่อาศัยอยู่รายรอบโรงพยาบาลศิริราช นำมาตรวจสอบหลอดเลือดหัวใจเพื่อคัดกรองร่องรอยโรคหลอดเลือดหัวใจที่เหมาะสมต่อการรักษา โดยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (PICA) เปรียบเทียบกับการรักษาชนิดประคับประคองด้วยยา Low motecular weight heparin (nadroparin) ขนาด 7,500 ยูนิค ฉีดเข้าใต้ผิวหนังวันละ 2 ครั้ง นานติดต่อกัน 5 วัน
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงหรือเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้เท่า ๆ กันทั้ง 2 กลุ่ม แต่กลุ่มประคับประคองจะเกิดอาการเจ็บเค้นอกได้มากกว่ากลุ่มที่ทำบอลลูนจนต้องกลับเข้ามารักษาในโรงพยาบาลซ้ำอีก แต่อย่างไรก็ดีไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตในขณะและหลังการรักษา
ผู้วิจัยได้สรุปและแนะนำว่าผู้ป่วยที่ได้รับการทำบอลลูนตั้งแต่แรกจะมีอาการดีกว่าการรักษาแบบประคับประคอง มีอาการเจ็บเค้นอกและกลับเข้ามารักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่ากลุ่มข้างต้น แต่อย่างไรก็ตามผลการรักษาแบบประคับประคองร่วมกับการใช้ยา nadroparin ได้ผลดีในระยะสั้น ซึ่งงานวิจัยนี้น่าจะเป็นแนวทางในการจัดทำมาตรฐานรักษาโรคเจ็บเค้นอกแปรผันสำหรับประเทศไทย--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท/นห)--