ไทยรับผลบวกเต็มๆ จากการลดภาษีผักผลไม้ไทย-จีน

อังคาร ๑๓ กรกฎาคม ๒๐๐๔ ๑๖:๔๐
กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
นายพิษณุ เหรียญมหาสาร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการบริหารนโยบายการนำเข้าในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่าย ASEAN ในการเจรจา FTA อาเซียน-จีน เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการเจรจา FTA อาเซียน-จีน ครั้งที่ 15 ที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกวางซี ระหว่าง 21-25 มิถุนายน 2547 ปรากฏว่าได้ข้อสรุปรูปแบบการลดภาษีนำเข้าระหว่างจีนกับอาเซียน 6 ประเทศเดิม ซึ่งตกลงกันว่าภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มที่ลดภาษีปกติ (Normal Track) จะลดเหลือศูนย์ในปี 2010 ยกเว้นประเทศฟิลิปปินส์ที่ต้องการลดเหลือศูนย์ในปี 2012 ส่วนสินค้ารายการอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง (Sensitive และ Highly Sensitive) นั้น ยังต้องเจรจาใน 2-3 ประเด็นที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่ กล่าวคือ จำนวนรายการสินค้าที่จะอยู่ในรายการ Sensitive List ที่จีนกำหนดไม่เกิน 200 รายการ แต่อาเซียนขอเป็นประมาณ 500 รายการ ขณะที่ประเด็นกำหนดวันลดภาษีต่ำสุดและอัตราภาษีต่ำสุดก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้
นอกจากนี้ยังมีประเด็นความแตกต่างด้านการใช้มาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษีที่ฝ่ายจีนเพิ่มเติมรายละเอียดเพิ่มจากท่าทีอาเซียน และประเด็นการใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard) ที่มีการเสนอให้มีระดับความเข้มงวดที่แตกต่างกันอยู่ ตลอดจนเรื่องที่ฝ่ายจีนได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการผลักดันให้อาเซียนยอมรับฐานะ Market Economy ของจีน ซึ่งมีเพียง 5 ประเทศอาเซียนที่ยอมรับแล้ว คือ สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และไทย ส่วนอีก 5 ประเทศที่ยังไม่ยอมรับรองปรากฏว่า ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย มีท่าทีคัดค้านที่แข็งกร้าวมาก ทั้งนี้ท่าทีที่ยังมีความแตกต่างดังกล่าวนี้ ทั้งสองฝ่ายจะนำมาหารือกันในการประชุมกันในครั้งต่อไปในเมืองเว้ เวียดนาม ในวันที่ 31 ก.ค.-1 ส.ค.2547 โดยเป็นการประชุมต่อเนื่องจากการประชุม ASEAN SEOM ครั้งต่อไปที่เมืองเว้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ในการประชุมดังกล่าวก่อนนำเสนอผู้นำอาเซียน และจีนลงนามทันเดือนพฤศจิกายน 2547 ที่ทั้งสองฝ่ายกำหนดกันไว้
ในโอกาสเดียวกัน นายพิษณุ เหรียญมหาสาร ได้ชี้แจงเพิ่มเติมสำหรับความคืบหน้าจากผลการตกลงลดภาษีนำเข้ากันก่อนสำหรับผัก-ผลไม้ไทย-จีน ภายใต้ FTA อาเซียน-จีน ซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 นั้น ปรากฎจากสถิตินำเข้าส่งออกของศุลกากรจีนซึ่งแสดงรวมตัวเลขนำเข้าผลไม้ไทยผ่านฮ่องกงเข้าจีนทุกเที่ยวนั้น ปรากฎว่าในช่วง ต.ต.-ธ.ค. 2546 จีนนำเข้าผลไม้ไทยปริมาณประมาณ 55,000 ตัน ขณะที่ไทยนำเข้าผลไม้จีนต่ำกว่าเล็กน้อยคือประมาณ 46,200 ตัน เมื่อคิดเป็นมูลค่าปรากฎว่าว่าจีนนำเข้าผลไม้ไทยมีมูลค่าสูงกว่าไทยนำเข้าผลไม้จีน กล่าวคือ มูลค่าผลไม้จีน 18.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับมูลค่าผลไม้ไทย 27.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้เพราะราคาเปรียบเทียบผลไม้ไทยสูงกว่าผลไม้จีน
ยิ่งในช่วง 5 เดือนแรก ม.ค.-พ.ค. 2547 ปรากฏว่าประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการส่งผลไม้ไทยเข้าจีนมากกว่าผลไม้จีนที่ส่งเข้าไทยในระดับสูงมาก กล่าวคือ ปริมาณผลไม้ไทยเข้าจีนประมาณ 72,700 ตัน เทียบกับผลไม้จีนเข้าไทยปริมาณประมาณ 26,800 ตัน คิดเป็นมูลค่า 51.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับ 11.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ
ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าส่งออกผักยิ่งสะท้อนความได้เปรียบของไทยจากการตกลงลดภาษีนำเข้าผัก ผลไม้ ไทย-จีน ระหว่างกันก่อนนั้นมีสูงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หากรวมเอารายการมันสำปะหลังซึ่งจัดอยู่ในรหัสภาษีศุลกากร 07 เดียวกับผักสด ปรากฏว่าใน 5 เดือนแรกปี 2547 ปริมาณและมูลค่าไทยนำเข้าผักจีนเข้าไทยเท่ากับประมาณ 24,600 ตัน และ 10.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับจีนนำเข้าผักไทย ปริมาณ 1.14 ล้านตัน และ 108.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการลดภาษีนำเข้าผัก-ผลไม้ ระหว่างไทย-จีน อย่างชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากตลาดจีนมีขนาดใหญ่มากช่วยให้เกิดความต้องการผลไม้ไทยสูงกว่าในตลาดไทยมาก แม้ตลาดจีนอาจยังมีข้อกีกกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีอยู่ ทำให้เพิ่มต้นทุนการนำเข้าผลไม้ไทยในจีนสูงขี้น แค่โดยที่ผู้บริโภคจีนในปัจจุบันมีอำนาจซื้อเพิ่มมากขึ้น ชาวจีนอยู่ในฐานะซื้อผลไม้ไทย ซึ่งถือเป็นผลไม้เมืองร้อนที่มีความพิเศษและมีคุณภาพสูงจึงเป็นที่ต้องการของคนจีนกว้างขวางมากขึ้น ที่สำคัญคือ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะขาม ส้มโอ กล้วย ตามลำดับ ดังนั้น การใช้มาตรการนำผักและผลไม้มาลดภาษีนำเข้าระหว่างไทย-จีน ภายใต้ FTA อาเซียน จึงส่งผลให้ผลไม้ไทยมีโอกาสในการขยายเข้าตลาดจีนได้อีกมาก
ในส่วนของสถานะล่าสุดของการเร่งลดภาษีผักและผลไม้ระหว่างไทย-จีน ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 9 เดือน มูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีนในสินค้าดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วจนกระทั่งถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ มีมูลค่า 9,947.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในระยะเดียวกันของปี 2546 ร้อยละ 38 ทั้งนี้ ไทยได้ดุลการค้าในสินค้าผักและผลไม้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 36.92 โดยการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.92 และ 40.23 ตามลำดับ สินค้าสำคัญที่ไทยสามารถส่งออกไปขายจีนได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ ทุเรียนสด ลำไยสด ลำไยแห้ง มังคุด และมันสำปะหลังเส้น ส่วนสินค้าสำคัญที่จีนสามารถส่งออกมาไทยได้มากขึ้นได้แก่ แอปเปิ้ล แพร์ และควินซ์
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ:
สำนักงานคณะกรรมการบริหารนโยบายการนำเข้า
Office of Import Policy Administration
สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
44/100 ถนนสนามบินน้ำ-นนทบุรี ต.บางกระลอ อ.เมือง จ.นนทบุรี 10110
โทรศัพท์ 0-2507-7013-23 โทรสาร 0-2507-6981 e-mail:[email protected]จบ--
--อินโฟเควสท์ (กภ)--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ