กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
ประเทศอาร์เจนตินาอนุมัติให้มีการเพาะปลูกข้าวโพดพันธุ์ราวด์อั้พ เร้ดดี้ของบริษัท มอนซานโต้ เนื่องจากเกษตรกรเล็งเห็นถึงประโยชน์และความคุ้มค่าที่จะได้รับ
ทั้งนี้ คาดว่า การอนุมัติให้เพาะปลูกข้าวโพดพันธุ์ดังกล่าว จะส่งผลให้มีพื้นที่เพาะปลูกที่ใช้เทคโนโลยี ชีวภาพเพิ่มมากขึ้นทั้งในอาร์เจนตินาและประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ปัจจุบัน ข้าวโพดพันธุ์ราวด์อั้พ เร้ดดี้ ได้รับอนุมัติให้นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารสัตว์ และ ผลิตภัณฑ์แปรรูปในหลายประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ออสเตรเลีย รัสเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และบัลแกเรีย
นายเบร็ตต์ เบจมานน์ รองประธานบริหาร กลุ่มการค้าระหว่างประเทศ บริษัท มอนซานโต้ กล่าวว่า “การอนุมัติการเพาะปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สองภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากมีการอนุมัติการเพาะปลูกข้าวโพดพันธุ์ยิลด์การ์ด พลัส ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2547”
และเสริมว่า “การอนุมัติให้มีการเพาะปลูกข้าวโพดปรับปรุงพันธุ์ในประเทศอาร์เจนตินาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศผู้เพาะปลูกข้าวโพดรายใหญ่ทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย เชื่อมั่นและยอมรับ ในความปลอดภัยและคุณประโยชน์ของผลผลิตการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพอย่างมาก”
ข้าวโพดพันธุ์ราวด์อั้พ เร้ดดี้ มีคุณลักษณะและคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่ากับข้าวโพดพันธุ์ดั้งเดิม แต่ให้คุณประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมนานัปการ ซึ่งไม่พบในข้าวโพดพันธุ์ดั้งเดิม ได้แก่ มีการใช้ยาปราบวัชพืชเท่าที่จำเป็นเฉพาะในกรณีที่พบวัชพืชเท่านั้น
นอกจากนี้ คุณสมบัติในการต้านทานต่อวัชพืชของข้าวโพดดังกล่าวจะให้เกษตรกรสามารถทำการ เพาะปลูกแบบลดการไถพรวนที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี โดยจะช่วยลดการกัดเซาะของชั้นดิน มีการใช้เชื้อเพลิงลดลง และลดปริมาณมลพิษในอากาศ ทั้งยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การดำเนินชีวิตของสัตว์ป่า
เมื่อการควบคุมวัชพืชมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ทำให้ประเทศที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ สามารถลดการพึ่งพาการนำเข้า มีผลผลิต ที่สม่ำเสมอ เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และราคาพืชผลมีความผันผวนน้อย ซึ่งประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์นี้เช่นเดียวกันหากมีการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
นายคงทัศน์ จันทร์ฉาย ผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท มอนซานโต้ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ในประเทศสหรัฐอเมริกา การปลูกข้าวโพดพันธุ์ราวด์อั้พ เร้ดดี้ ให้ผลผลิตสูงกว่ากรรมวิธีเพาะปลูกที่ใช้ ยาปราบวัชพืชแบบดั้งเดิมประมาณ 60 กิโลกรัมต่อไร่ โดยเกษตรกรที่เลือกใช้ข้าวโพดพันธุ์ราวด์อั้พ เร้ดดี้มากกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ที่เพาะปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรม และเกษตรกรส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกหลังจากประสบความสำเร็จในการเพาะปลูกที่ผ่านมา”
นายเบจมานน์ ยังเสริมด้วยว่า “นอกจากนี้ ประเทศอาร์เจนตินายังอนุมัติให้มีการเพาะปลูกถั่วเหลืองและฝ้ายพันธุ์ราวด์อั้พ เร้ดดี้ รวมทั้งข้าวโพดและฝ้ายพันธุ์ต้านแมลงศัตรูพืชอีกด้วย โดยในปีเพาะปลูก 2547 ข้าวโพดพันธุ์ราวด์อั้พ เร้ดดี้ ที่พัฒนาโดยบริษัทมอนซานโต้ จะพร้อมให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูก ในระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2547 และจะขยายปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเพาะปลูก ในปี 2548 และ 2549“
ในปีเพาะปลูก 2546 —2547 มีการเพาะปลูกข้าวโพดจากเมล็ดข้าวโพดปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพของมอนซานโต้จำนวน 15 ล้านไร่ในประเทศอาร์เจนตินา คาดว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงร้อยละ 45 นอกจากนี้ยังเพาะปลูกข้าวโพดพันธุ์ เมซการ์ด (Maizegard) ซึ่งมีความต้านทานแมลงศัตรูพืชในพื้นที่กว่า 5 ล้านไร่
สำหรับภาวะตลาดโดยรวมในระยะยาวของข้าวโพดพันธุ์ราวด์อั้พ เร้ดดี้ ซึ่งพิจารณาจากยอดจำหน่าย ข้าวโพดราวด์อั้พ เร้ดดี้แบบที่มีลักษณะพิเศษชนิดเดี่ยวกับแบบที่มีลักษณะพิเศษชนิดคู่ (single and stacked traits) คาดว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 12.5 ล้านไร่ หากอาร์เจนตินาอนุมัติให้มีการ เพาะปลูกข้าวโพดแบบที่มีลักษณะพิเศษชนิดคู่ (stacked) รวมทั้งมีการออกใบอนุญาตการผลิตให้แก่บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์
อย่างไรก็ตาม คาดว่า ขนาดของตลาดอาจจะขยายได้มากกว่านี้ หากมีการอนุมัติให้มีการนำเข้า ข้าวโพดพันธุ์ราวด์อั้พ เร้ดดี้ของมอนซานโต้ในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคยุโรป
ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นจริงยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีก อาทิ สภาพของธุรกิจ สภาวะเศรษฐกิจ และสภาพภูมิอากาศ ข้าวโพดสายพันธุ์นี้จะนำออกจำหน่ายในรูปของผลิตภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ของมอนซานโต้ และมีต้นทุนในการผลิตเหมือนข้าวโพดพันธุ์เมซการ์ด
พื้นที่เพาะปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรม ซึ่งได้จากเมล็ดพันธุ์ของมอนซานโต้ มีขนาดรวมทั้งสิ้น 375 ล้านไร่ ในปี 2546 และเพิ่มขึ้นเป็น 430 ล้านไร่ในปี 2547 ผลการศึกษาครั้งล่าสุดขององค์การไอซ่า เผยว่า มีเกษตรกรเพาะปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมประมาณ 7 ล้านคนใน 18 ประเทศ โดยในจำนวนนี้ เป็นเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาสูงถึง 6 ล้านคน
“เกษตรกรและผู้บริโภคชาวไทยจะมีโอกาสได้รู้ว่า ข้าวโพดราวด์อั้พสามารถให้ผลผลิตและประสิทธิภาพในระดับเดียวกับที่พบในประเทศอื่นๆ หรือไม่นั้น สามารถทำได้โดยการทดลองระดับไร่นา ทั้งนี้ การที่รัฐบาลอนุมัติให้มีการศึกษาทดลองปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในทุกขั้นตอนอย่างจริงจัง เป็นสิ่งสำคัญของการสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ” นายคงทัศน์สรุป
รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
ศรีเบญจา เสมมีสุข หรือ สาธิดา ศรีธัญญาธรณ์
อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
โทร. 0-2252-9871
อีเมล์: [email protected]จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--
- ม.ค. ๒๕๖๘ กลุ่มทรู จัดแคมเปญ “Together Forever” เอาใจคู่รัก รับวันวาเลนไทน์ ชวนคู่หวานเปิดเบอร์ใหม่เสริมดวงความรัก จากทรูมูฟ เอช พร้อมรับฟรี บัตรภาพยนตร์True 4DX มูลค่า 1,200 บาท
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: กรมการค้าภายในเยี่ยมชมกิจการ “ร้านติดดาว” โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตร้านค้าปลีกของกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์
- ม.ค. ๒๕๖๘ ประเทศไทยจัดงานประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ใช้ Live Streaming ถ่ายทอดสดการประชุมเป็นครั้งแรกแก่บุคลากรทางการแพทย์