แพทย์เตือนภาวะเจ็บหน้าอก สัญญาณอันตรายหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน

อังคาร ๒๐ กรกฎาคม ๒๐๐๔ ๑๓:๐๕
กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
แพทย์เตือนว่า ภาวะเจ็บหน้าอก หรือ Chest pain ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มชายสูบบุหรี่ ผู้สูงอายุ ผู้เป็นเบาหวาน
ผู้ที่มีภาวะไขมันหรือโคเลสเตอรอลในเลือดสูง และความดันโลหิตสูงที่เข้าข่ายเป็นโรคหัวใจ อาจเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและมีอันตรายต่อชีวิตได้
นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจกล่าวว่า แม้ว่าอาการเจ็บหน้าอก เกิดได้จากหลายปัจจัยและไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคหัวใจเสมอไป เพราะบางครั้งเป็นอาการที่แสดงมาจากอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง เช่น การอักเสบของเหยื่อปอด ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ หรือกระดูกซี่โครงกับกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณดังกล่าวก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ แต่หากใครมีอาการเจ็บบริเวณหน้าอกส่วนกลาง อึดอัดและหายใจไม่สะดวก ปวดร้าวไปที่กราม และแขน ส่วนมากจะเป็นที่แขนซ้ายเกิดขึ้นบ่อยๆ และปวดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาการดังกล่าวเสี่ยง
ต่อการเป็นโรคหัวใจตีบ
นอกจากนั้นลักษณะอาการที่อาจสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจ มี 2 ลักษณะ คือ อาการที่เกิดเป็นระยะๆ และไม่เจ็บเป็นเวลานาน มักเกิดในช่วงออกกำลังกาย หรือขณะทำกิจกรรมบางอย่างอยู่ แต่ลักษณะการเจ็บแบบนี้จะเป็นการเจ็บไม่นาน และยังไม่มีอันตรายมาก ส่วนอาการที่เป็นสัญญาณอันตรายของภาวะหลอดเลือดตีบแบบเฉียบพลัน คือ เจ็บมาก อาจมีเหงื่อออก ใจเต้นใจสั่น หายใจไม่สะดวกและเจ็บอยู่นานอย่างต่อเนื่องนานประมาณ 20 นาที หรือมากกว่านั้น
การวินิจฉัยของแพทย์ว่าผู้ป่วยจะมีอาการของโรคหัวใจหรือไม่นั้น สามารถทำได้โดยให้คนไข้เดินสายพานร่วมกับตรวจเลือดเพื่อหาระดับไขมันและน้ำตาล ตรวจความดันโลหิต วิธีเหล่านี้สามารถยืนยันของภาวะโรคดังกล่าวได้ร้อยละ 50 - 60 หรือแพทย์อาจใช้วิธีตรวจคลื่นไฟฟ้า ฉีดสารกัมมันตภาพรังสีดูภาพหัวใจ การอัลตร้าซาวน์เพื่อดูการบีบตัวของหัวใจ หรือการวัดปริมาณแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจ ซึ่งกลุ่มคนที่มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ ผู้ชายอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือระดับไขมันในเลือดสูง อย่างไรก็ตามภาวะโรคหัวใจดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอายุน้อยได้เช่นกัน อาทิ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เป็นต้น
การรักษาก็สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งนี้อยู่กับอาการของคนไข้และปัจจัยหลายด้าน เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น จุดที่หลอดเลือดหัวใจตีบมีน้อยหรือมาก โดยขั้นแรกอาจใช้วิธีรับประทานยา ทำบอลลูนขยายหลอดเลือด ทำบายพาส หรือใส่สเตนท์
การทำบอลลูนปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมาก ถือเป็นวิธีการรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัดด้วยการเอาสายที่มีบอลลูนที่
ตรงปลายสอดใส่เข้าไปที่หลอดเลือดแขนหรือขา โดยที่เมื่อก่อนนี้การทำบอลลูนมีโอกาสที่หลอดเลือดตีบซ้ำเกิดขึ้นในระยะ 6 เดือนแรก
ขณะที่การใส่สเตนท์ หรือขดลวดประดิษฐ์ลักษณะเหมือนกับสปริงเล็กๆ ทำจากสแตนเลสสตีล หรือคาร์บอน สามารถใส่เข้าไปค้ำตรงที่หลอดเลือดตีบ หลังจากทำบอลลูนแล้วจะลดอาการตีบซ้ำไม่ให้กลับมาได้อีก หรือลดได้จากระดับร้อยละ 35 - 40 ลงมาที่ระดับร้อยละ 10 - 20 ขึ้นอยู่กับคนไข้ สาเหตุการตีบซึ่งเกิดจากขดลวดที่ใส่เข้าไปนี้จะไปกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ (เช่นเดียวกับการแผลเป็น) ให้เจริญเติบโตเข้าไปในขดลวด เกิดการตีบของหลอดเลือดบริเวณที่มีขดลวดแบบเก่านี้
ในปัจจุบันได้มีพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่นำยาไปเคลือบบนขดลวด ซึ่งเมื่อใส่ขดลวดนี้เข้าไปในหลอดเลือดแล้ว ตัวยาที่เคลือบอยู่จะค่อยๆถูกปล่อยเข้าไปในผนังหลอดเลือดเพื่อทำปฏิกริยาหยุดยั้งการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ที่เกิดตามตามธรรมชาติ สามารถลดการกลับมาตีบใหม่ได้ (โดยการเติบโตของเนื้อเยื่อนี้จะเกิดภายใน 6 เดือนแรกและถ้าไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้นอีก) ทำให้วิธีใส่ขดลวดที่เคลือบยาดังกล่าวลดการกลับไปตีบใหม่จากร้อยละ 20 ลงมาที่ระดับร้อยละ 5 หรือต่ำกว่าได้ และถือว่าเป็นการปฏิวัตินวัตกรรมทางการแพทย์เลยทีเดียวที่การรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดให้ผลดีเท่ากับ/หรือดีกว่าทางผ่าตัดบายพาสในบางกรณี (แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาเปรียบเทียบโดยตรง)
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีวิธีการรักษาที่ทันสมัยและปลอดภัยมากขึ้น แต่ผู้ป่วยก็ควรต้องดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งนี้ทางที่ดีที่สุดคือควรป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ เช่น ควรงดการสูบบุหรี่ ป้องกันไม่ให้มีไขมันในเลือดสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควรเช็คสุขภาพเป็นประจำ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ :
กนกรัชต์ ทิมบุญธรรม
พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
โทรศัพท์ 0-2651-8989 ต่อ 225
โทรสาร 0-2651-9649-50--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version