กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--ก.พลังงาน
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะ 3 ระหว่างปี 2547 —2561 เพื่อที่จะเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ก๊าซธรรมชาติ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี 25 ผลิตภัณฑ์ 42 โครงการ ทั้งสายโอเลฟินส์ (จากก๊าซธรรมชาติ) และอะโรแมติกส์(จากน้ำมันดิบ) ผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ (อาทิ เอทิลิน โพรไพลิน) กลางน้ำและปลายน้ำ (อาทิ เม็ดพลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ยางสังเคราะห์ วัตถุดิบกาว ปุ๋ย) รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทั่วไป และผลิตภัณฑ์พิเศษ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ สิ่งทอ อุตสาหกรรมเกษตรเป็นต้น ที่สำคัญ
อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็น อุตสาหกรรมที่มีอนาคตสำหรับประเทศไทย สามารถสร้างรายได้ถึงปีละประมาณ 2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4.5 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)
ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน ได้กำหนดทางเลือกในการตั้งคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีระยะ 3 ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 ทั้งคอมเพล็กซ์ฯ ตั้งอยู่ที่มาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก และมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม สำหรับรองรับการขยายตัวได้อย่างเพียงพอ และหากมีการลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่นี้ จะช่วยเพิ่มอัตราการใช้โครงสร้างที่มีอยู่เดิมอย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
และประหยัดเงินลงทุนในการสร้างพื้นฐานจำนวนหลายแสนล้านบาท ทางเลือกที่ 2 แบ่งคอมเพล็กซ์ฯ ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ คอมเพล็กซ์ฯ ส่วนที่ 1 (พ.ศ. 2547-2558) ตั้งอยู่ในมาบตาพุด จ.ระยอง คอมเพล็กซส่วนที่ 2 (พ.ศ. 2559-2561) ตั้งอยู่พื้นที่อื่นนอกมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น บริเวณเส้นทาง ยุทธศาสตร์พลังงาน (แลนด์บริดจ์)
ด้านนโยบายการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานนั้น กระทรวง พลังงานได้สรุปความก้าวหน้าโครงการเส้นทางยุทธศาสตร์พลังงาน หรือ Strategic Energy Landbridge โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบแผนการสร้างท่อส่งน้ำมันขนาด 1.5
ล้านบาเรลต่อวัน ระยะทาง 250 กิโลเมตร เพื่อป้อนตลาดภายในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
รวมทั้งการสร้างโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่โครงการ ซึ่งจะตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก ด้านอ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช โดยที่ฝั่งตะวันตกด้าน อ.ท้ายเมืองจ.พังงา จะมีทุ่นรับน้ำมันกลางทะเล และคลังเก็บน้ำมัน โดยจะเตรียมการภายใน 2 ปี และ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2553
ซึ่งขณะนี้ความก้าวหน้าด้านการหาผู้ร่วมทุนนั้น บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีน (China National Petroleum Corporation) :CNPC ได้ส่งทีมงานด้านเทคนิคมาร่วมศึกษา รายละเอียดของโครงการแล้ว และในระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม 2547 นี้ ประธานบริษัท CNPC จะเดินทางมาหารือ เพื่อหาแนวทางร่วมดำเนินการในโครงการแลนด์บริดจ์ นอกจากนี้ ภาคเอกชนจากประเทศญี่ปุ่นก็สนใจที่จะสนับสนุนในลักษณะเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำโดยกระทรวง พลังงานจะได้มอบให้ บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน) เป็นเจ้าภาพหลักในการประชุมบริษัทน้ำมันแห่งชาติของ ไทย จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เพื่อเจรจาหาแนวทางร่วมทุนต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานจะได้เร่งจัดทำรายละเอียดด้านเทคนิคของจุดปลายและแนวท่อขนส่งน้ำมัน รวมถึงจุดที่ตั้งของถังเก็บน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การออกแบบและก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมันให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2551 นายแพทย์พรหมินทร์กล่าวเพิ่มว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงาน ที่มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต กระทรวงพลังงาน ได้มีนโยบายเพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าวมาอย่าง ต่อเนื่อง
โดยขณะนี้ความคืบหน้าด้านพลังงาน ทดแทน ได้พิจารณาเห็นว่านโยบายส่งเสริมการจัดหา และการใช้พลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำน้ำมันจากพืชและแอลกอฮอลล์ หรือ เอทานอลมาใช้นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งขณะนี้ยืนยันได้ว่า แผนการเร่งรัดเพิ่มกำลังผลิต เอทานอลบริสุทธิ์ 99.5 % มาใช้ทดแทนสารเพิ่มค่าออกเทนหรือเอ็มทีบีอีในน้ำมันเบนซิน ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอล 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทพรวิไล จำกัดกำลังผลิต 25,000 ลิตรต่อวัน บริษัทไทยแอลกฮอล์ จำกัด กำลังผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน และในช่วงปลายปี2547 จะมีโรงงานเอทานอลเกิดขึ้นอีก 1 แห่งได้แก่ บริษัท ไทยง้วนเอทานอล จำกัด กำลังผลิต 130,000 ลิตรต่อวัน และมั่นใจว่าการเพิ่มกำลังการผลิต เอทานอลจะเพิ่มเป็น 1 ล้านลิตรต่อวัน ในช่วงปี 2547-2549 และจะเพิ่มเป็น 3 ล้านลิตรต่อวัน ในช่วงปี 2550-2554 คาดว่าจะสามารถลดการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ลงได้ประมาณ 3% ในปี 2549
ทั้งนี้ จะได้เร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างราคาน้ำมันเบนซิน ที่ใช้เอทานอลเป็นส่วนผสมหรือน้ำมันก๊าซโซฮอล์ โดยจะพยายามทำให้ราคาถูกกว่าราคาน้ำมันเบนซินในปัจจุบัน มากกว่า 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้แทนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--