รางวัลเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม : รางวัลเพื่อประสบการณ์ชีวิต

ศุกร์ ๓๐ กรกฎาคม ๒๐๐๔ ๑๕:๑๗
กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
“เพียงการเที่ยวชมบนโลกกว้างแค่วันเดียว ก็มีค่ามากว่าการอ่านหนังสืออยู่ที่บ้านเป็นคันรถ” คำกล่าวนี้เป็นของ จอห์น มัวร์ เจ้าของแนวคิดและหลักการ ซึ่งเป็นต้นแบบให้กับ โครงการรางวัลเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นางรัชนี เอมะรุจิ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวในการประชุมสรุปผลโครงการรางวัลเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม(นำร่อง) ว่า โครงการนี้ได้พัฒนามาจากโครงการจอห์น มัวร์ อวอร์ด ที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศสก็อตแลนด์ซึ่งได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเป็นโครงการที่ไม่ได้มุ่งแข่งขันเพื่อชิงรางวัล แต่เป็นโครงการที่ท้าทายความสามารถของเยาวชนในการทำกิจกรรมค้นหาและสำรวจพื้นที่ธรรมชาติ การอนุรักษ์ และแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้ค้นพบให้กับผู้อื่น ซึ่งกรมฯมุ่งหวังให้เยาวชนได้พัฒนากระบวนการเรียนรู้ และส่งเสริมทักษะความเชื่อมั่นในทำงานร่วมกัน เพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ในระบบนิเวศ รวมถึงการอนุรักษ์แบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมสำรวจโลกกว้างรอบๆ ตัวสู่สาธารณชน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนในการเข้าไปมีส่วนร่วมอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นต่อไป
เด็ก...กับความสัมพันธ์สิ่งแวดล้อม
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มทดลองดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2546 ในพื้นที่เขตการศึกษา 5 (เดิม) อันได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์ โดยผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ กลุ่มเยาวชน ทั้งในและนอกระบบโรงเรียนที่สนใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น ซึ่งการเข้าร่วมโครงการของเด็กนั้น สิ่งสำคัญคือ เด็กต้องอยากทำกิจกรรมเอง และมีความคิดริเริ่มในการดำเนินกิจกรรม ส่วนที่สอง คือ พี่เลี้ยง ซึ่งจะทำหน้าที่ปฏิบัติงานร่วมกับเยาวชน รวมทั้งให้คำปรึกษาและหาความถนัดของเด็กในการทำกิจกรรม โดยพี่เลี้ยงนี้จะต้องเป็นผู้สนใจงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในช่วงของโครงการนำร่องนี้มีกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 58 กลุ่ม จำนวนประมาณ 600 คน และพี่เลี้ยงประมาณ 50 คน
กลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเขียนรายละเอียดของกิจกรรมที่จะทำ เพื่อเสนอขอคำแนะนำจากพี่เลี้ยง โดยกิจกรรมเหล่านั้นจะอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดและเป้าหมายของโครงการ คือจะต้องเป็นกิจกรรมที่พวกเขาเองมีความสนใจ รู้สึกสนุกและมีความสุขที่ได้ทำ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เยาวชนตื่นตัวที่จะได้เรียนรู้ธรรมชาติอย่างใกล้ชิดผ่านการทำกิจกรรมสำรวจโลกกว้าง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะต้องครอบคลุมใน 4 ระดับความท้าทาย คือ การค้นพบพื้นที่ธรรมชาติ การสำรวจพื้นที่ธรรมชาติ การอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติ และการแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์
“เด็กๆ จะต้องหาพื้นที่ธรรมชาติใกล้บริเวณที่เขาอาศัยอยู่เพื่อเริ่มต้นโครงการ โดยการค้นหารายละเอียด และทำความรู้จักกับพื้นที่ จากนั้นจะดำเนินการสำรวจพื้นที่อย่างสม่ำเสมอซึ่งการสำรวจแต่ละครั้งต้องมีเป้าหมาย เช่น ศึกษาสภาพแวดล้อม สิ่งมีชีวิตที่พบ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม การปรับตัวให้เข้ากับสภาพพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เป็นต้น ขั้นต่อไปเด็กๆ ก็ต้องแสดงถึงความรับผิดชอบในพื้นที่ธรรมชาติที่ดำเนินโครงการ โดยการลงมือกระทำบางสิ่งบางอย่างที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่เพื่อให้พื้นที่ธรรมชาตินั้นมีสภาพดีขึ้น ส่วนกิจกรรมขั้นสุดท้ายคือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการกับพื่อนๆ อาจารย์ ชุมชน หรือผู้ที่สนใจ” นส.สาวิตรี ศรีสุข ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อมศึกษา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หนึ่งในทีมทำงานโครงการ กล่าว
สิ่งที่ได้รับจากการทำกิจกรรมคือ...อะไร?
การทำกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนที่ร่วมโครงการนั้น จะมีการกำหนดระยะเวลาเป็น 3 ระดับ คือ ระดับต้น ต้องทำกิจกรรม 15 ชั่วโมงใน 3 เดือน ระดับกลางทำ 30 ชั่วโมงใน 6 เดือน และระดับสูง 60 ชั่วโมงใน 12 เดือน ซึ่งระยะเวลาที่ทำกิจกรรมนี้ก็จะสัมพันธ์กับระดับรางวัลที่จะได้รับด้วย โดยกลุ่มเยาวชนที่ทำกิจกรรมครบกำหนดในช่วง 3 เดือนจะได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ส่วนครบ 6 เดือนได้รางวัลเหรียญเงิน และครบ 12 เดือนจะได้รับเหรียญทอง ซึ่งเด็กต้องผ่านรางวัลระดับเหรียญทองแดงก่อนเพื่อสู่ระดับต่อไป และในช่วงของโครงการนำร่องนี้ได้ดำเนินการเฉพาะระดับเหรียญทองแดงเท่านั้น
การตัดสินโครงการต่างๆ ที่เด็กทำนั้นพี่เลี้ยงโครงการจะเป็นผู้พิจารณาว่าเด็กผ่านเกณฑ์การให้รางวัลหรือไม่ โดยเกณฑ์การตัดสินนั้นก็จะพิจารณาจากเป้าหมายและแผนงานที่ชัดเจนของโครงการ รายละเอียดของกิจกรรมที่สอดคล้องกับการเรียนและได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ ขณะเดียวกันต้องมีความปลอดภัยเหมาะสมกับศักยภาพ รวมทั้งจะต้องทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และซื่อสัตย์มีวินัยต่อตนเอง
“โครงการรางวัลเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนำร่อง นี้ ได้ดำเนินการมาจนเสร็จสิ้นแล้ว มีกลุ่มเยาวชนที่ผ่านเกณฑ์และได้รับรางวัลทั้งสิ้น 44 กลุ่ม เป็นจำนวนเด็กและเยาวชนที่ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง 384 คน กรมฯจึงได้มีการประเมินภาพรวมของโครงการจากผู้เข้าร่วมทั้งพี่เลี้ยง เยาวชน และองค์กรที่สนใจ เพื่อนำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะมาสรุปผล และพัฒนาโครงการนี้ให้ขยายผลสู่ระดับประเทศต่อไป” ผอ.สำนักส่งเสริมและเผยแพร่ กล่าว
อย่างไรก็ตามจากการนำเสนอมุมมองและประสบการณ์ของกลุ่มเยาวชนจากจังหวัดต่างๆที่ร่วมโครงการนั้นเห็นว่า สามารถกระตุ้นการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ทำให้ได้รู้จักและเห็นความสำคัญของธรรมชาติรอบตัวอย่างลึกซึ้ง ซึ่งประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านี้ไม่สามารถหาได้ในห้องเรียน จึงอยากจะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับแก่เยาวชนอื่นที่ไม่ได้ร่วมโครงการ เพื่อให้ทุกคนเกิดความภูมิใจและเห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตน
แกนนำ....ยอมรับเป็นโครงการที่ดี
ขณะที่นางเก็จวลี กรีธาธร กลุ่มครูแกนนำจังหวัดเพชรบุรี ในฐานะพี่เลี้ยงโครงการได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เป็นกิจกรรมที่ดีที่กรมฯ ได้จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนเกิดความตระหนัก รัก หวงแหนและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน เพราะปกติเยาวชนในท้องถิ่นย่อมมีความคุ้นเคยกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น จนมองข้ามความสำคัญแต่เมื่อได้มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้สิ่งแวดล้อมใกล้ตัวอย่างเป็นระบบ ก็จะเกิดความรู้สึกสำนึกที่จะปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นให้คงอยู่และมีสภาพดีขึ้นเรื่อยๆ และต่อไปในอนาคตกิจกรรมที่กลุ่ม
เยาวชนเหล่านี้ได้ร่วมกันทำย่อมแผ่ขยายออกไปในวงกว้าง สามารถชักชวนผู้ร่วมกิจกรรมที่มีจิตสำนึกรัก หวงแหน ภาคภูมิใจในท้องถิ่นตนเองได้มากขึ้นเรื่อย ทั้งระดับชุมชน จังหวัด ภูมิภาค ประเทศและโลก ซึ่งเป็นเป้าหมายสากลที่จะให้มนุษย์ทุกคนมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยกันอนุรักษ์เพื่อความยั่งยืนของโลกตลอดไป”
มหิงสาสายสืบ...ที่ควรสืบสายพันธุ์คงอยู่ตลอดกาล
แม้ว่าชื่อของโครงการนี้จะใช้ชื่อ”มหิงสาสายสืบ” ซึ่งฟังดูแล้วออกจะเข้าใจยากสักนิด แต่หากแปลความหมายของคำว่ามหิงสา หมายถึง ควายป่าซึ่งนอกจากจะเป็นสัตว์สงวนและเป็นต้นกำเนิดของควายปัจจุบันแล้ว การใช้ชีวิตเป็นฝูงของมันยังมีประโยชน์ทั้งต่อมนุษย์และธรรมชาติอีกด้วย จึงเปรียบเสมือนหนึ่งว่าการทำกิจกรรมร่วมกันของกลุ่มเยาวชนจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นได้ ดั่งฝูงมหิงสาที่รวมกลุ่มปกป้องลูกให้พ้นภัยจากผู้ล่านั่นเอง
ดังนั้นรางวัลที่กลุ่มเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการนี้ได้รับไม่ว่าจะเป็นเหรียญทองแดง เหรียญเงิน หรือเหรียญทองนั้น อาจเป็นเพียงแค่การประเมินผลจากการลงมือทำกิจกรรมของเยาวชน แต่สิ่งที่เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนได้รับอย่างแท้จริงนั้น คงเป็นไปอย่างที่ จอน์ห มัวร์ เจ้าของแนวคิดของโครงการหวังไว้ นั่นคือ การเปิดโอกาสให้คนได้สำรวจ เรียนรู้ ใกล้ชิดกับธรรมชาติ จะช่วยให้คนผู้นั้นเกิดความรักและหวงแหนในธรรมชาติ เช่นเดียวกับประสบการณ์ที่ตัวเขาเองเคยได้รับนั่นเอง--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ