กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--สสวท.
ประวัติ ศาสตราจารย์กิตติคุณ แสวง โพธิ์เงิน เกิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2469 ที่บ้านตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จบการศึกษาชั้น ประถมปีที่ 4 โรงเรียนประจำตำบลบางโฉลง และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนประจำอำเภอบางพลี จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอำนวยวิทย์ อำเภอพระประแดง จบชั้นประโยคครูประถมโรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร สอบได้ทุนกระทรวงศึกษาธิการเข้าเรียนต่อในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2490 ได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) สาขาฟิสิกส์ ในปีการศึกษา 2493
การรับราชการ ได้รับการคัดเลือกเข้าบรรจุเป็นอาจารย์ประจำในภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา
พ.ศ. 2499 ได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไปศึกษาต่อและดูงานที่มหาวิทยาลัยเทคซัสในสาขาฟิสิกส์นิวเคลียร์ จนจบได้ปริญญาโทในปี พ.ศ. 2501 กลับมารับราชการในภาควิชาฟิสิกส์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดิม
ผลงาน ศาสตราจารย์กิตติคุณ แสวง โพธิ์เงิน มีผลงานเด่นใน 3 ประการ คือ การสอน การวิจัยและการเขียนตำรา มีรายละเอียดดังนี้
1. ในด้านการสอน ได้ทำการสอนนิสิตในระดับปริญญาตรีและโท โดยได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง (ข้อความต่อไปนี้คัดมาจากคำประกาศเกียรติคุณของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการแต่งตั้งศาสตราจารย์แสวง โพธิ์เงินเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ ในปีการศึกษา 2530) ศาสตราจารย์ แสวง โพธิ์เงิน เป็นผู้ที่มีวิธีการสอนดีเลิศ มีความเอาใจใส่ในการเรียนของนิสิตอย่างยอดเยี่ยม จึงได้รับการคัดเลือกเป็นครูวิทยาศาสตร์ดีเด่นระดับอุดมศึกษาประจำปี พ.ศ. 2529 จากสาขาครูวิทยาศาสตร์ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
2. ในด้านการวิจัย ได้ทำการวิจัยทางด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นไปทางด้านกัมมันตภาพรังสี (เพราะไม่ต้องใช้เครื่องมือมาก สิ้นเปลืองงบประมาณน้อย) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสีในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ อากาศ น้ำ พืช อาหาร ในการนี้ได้ทั้งด้านลำพังตนเองและร่วมกับอาจารย์ท่านอื่น ๆ ในภาควิชาฟิสิกส์ นอกจากนี้ ยังได้ควบคุมแนะนำงานวิจัยของนิสิตระดับปริญญาตรีและโท ในการทำวิทยานิพนธ์อีกด้วย ผลงานที่สำคัญคือ สามารถสร้างข้อมูลของระดับกัมมันตภาพรังสีที่มีอยู่ในดิน น้ำ หญ้าและอากาศในประเทศไทย ที่สำคัญมาก ได้แก่ กัมมันตภาพรังสีในอากาศทั้งที่เกิดเองโดยธรรมชาติ (จากก๊าซเรดอนและโทรรอน) และที่เกิดจากระเบิดนิวเคลียร์สามารถวัดระดับความแรงของรังสีและตรวจสอบวันที่เกิดการระเบิดนั้นด้วย จากผลงานวิจัยดังกล่าวนี้ เป็นผลให้ได้รับประกาศนียบัตรชมเชย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2520
3. การเขียนตำรา ในช่วงเวลาก่อน พ.ศ. 2500 ตำราเรียนภาษาไทยในสาขาฟิสิกส์มีอยู่น้อยมากและค่อนข้างล้าสมัย ศาสตราจารย์แสวง โพธิ์เงิน ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์เขียนแบบเรียนและตำราเรียนในวิชาฟิสิกส์ขึ้นหลายฉบับ มีดังนี้
ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีตำราจำนวน 4 เล่มที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้ใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียน ได้แก่
1. แบบเรียนกลศาสตร์
2. แบบเรียนแม่เหล็ก-ไฟฟ้าสถิต
3. แบบเรียนไฟฟ้ากระแส
4. แบบเรียนแสง
ในระดับมหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับอาจารย์อื่น ๆ ในภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนตำราฟิสิกส์เบื้องต้นทั่วไปใช้ในการเรียนชั้นปีที่ 1 มี 2 ฉบับดังนี้
1. ฟิสิกส์ 1
2. ฟิสิกส์ 2
จากผลงานการสอน การวิจัยและการเขียนตำรา ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น เป็นผลให้ศาสตราจารย์แสวง โพธิ์เงิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ในสาขาฟิสิกส์ในปี พ.ศ. 2517 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ ประถมาภรณ์ช้างเผือกในปี พ.ศ. 2525 และมหาวชิรมงกุฏ ในปี พ.ศ. 2529
ศาสตราจารย์แสวง โพธิ์เงิน ครบเกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2530 และได้รับแต่งตั้งโดยสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2531--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--
- พ.ย. ๒๕๖๗ ประวัติและผลงาน ดร.เจริญ วัชระรังษี นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ประจำปี 2548
- ๒๔ พ.ย. รัฐ-เอกชน เปิดงาน EdTeX 2024 ยกระดับการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี
- ๒๔ พ.ย. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวให้โอวาทพร้อมคล้องพวงมาลัยแก่นักเรียนผู้แทนประเทศไทยก่อนเดินทางแข่งขัน โอลิมปิกวิชาการวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ASMOPSS ครั้งที่ 14 ที่อินโดนีเซีย
- ๒๓ พ.ย. เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 20 เริ่มแล้ว