กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--ปตท.
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีรายได้รวมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2547 จำนวน 11,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,276 ล้านบาท หรือร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 9,333 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้จากการขายที่เพิ่มสูงขึ้น 2,670 ล้านบาท หรือร้อยละ 32
นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า “รายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากปริมาณการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 133,101 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการขายเฉลี่ยวันละ 108,380 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยส่วนใหญ่มาจากปริมาณการขายน้ำมันดิบในโครงการเอส 1 และปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทของโครงการบงกชซึ่งเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับอีกตัวแปรหนึ่งที่สำคัญคือ ราคาขายปิโตรเลียมในไตรมาสนี้สูงขึ้นเป็นเฉลี่ย 22.86 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีราคาเฉลี่ย 20.13 เหรียญสหรัฐ”
ปตท.สผ.และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 3,277 ล้านบาท ลดลง 273 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 3,550 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนตัวลง โดยอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2547 ที่ 41.03 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2547 ที่ 39.55 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ
“การที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ในขณะที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ได้ส่งผลให้มูลค่าปริมาณสำรองปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. เมื่อประเมินเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯมีค่าสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่มิได้บันทึกไว้ในบัญชี” นายมารุต กล่าว
ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 5,347 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,027 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 3,320 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าเสื่อมราคาและ ค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นของโครงการเอส 1 ตามสัดส่วนจากการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท ไทยเชลล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์ โปรดักชั่น จำกัด และค่าเสื่อมราคาของโครงการบงกชซึ่งสูงขึ้นตามปริมาณการผลิตและสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียมซึ่งสูงขึ้นตามรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2547 ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 97,417 ล้านบาท สูงขึ้นจากสิ้นปีก่อน 4,841 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 49,423 ล้านบาท สูงขึ้นจากสิ้นปีก่อน 2,521 ล้านบาท เนื่องจากการรวมประมาณการหนี้สินค่ารื้อถอนอุปกรณ์การผลิตของบริษัท ไทยเชลล์ฯ
สำหรับการดำเนินงานในอนาคตนั้น นายมารุต มฤคทัต กล่าวว่า “เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต เพื่อเข้าเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดในแปลงสำรวจ M-3 และ M-4 ซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ สหภาพพม่า โดย ปตท.สผ. มีแผนจะสำรวจเพื่อทำการศึกษาข้อมูลธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ การสำรวจคลื่นไหวสะเทือน และการเจาะหลุมสำรวจอย่างน้อย 1 หลุมในช่วง 4 ปีแรก และหากการดำเนินงานประสบความสำเร็จ ก็จะสามารถขยายระยะเวลาสำรวจได้อีก 2 ปี ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในช่วงเวลา 6 ปีแรกนี้ ประมาณ 23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การลงทุนครั้งนี้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของ ปตท.สผ. ที่ต้องการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมของประเทศในระยะยาว”
“สำหรับโครงการภายในประเทศนั้น ปตท.สผ.จะทำการขุดเจาะหลุมสำรวจและหลุมพัฒนาเพิ่มเติมในโครงการเอส 1 นอกจากนี้ จะเริ่มทดลองผลิตน้ำมันดิบในโครงการบี 6/27 หรือแหล่งนางนวลในอ่าวไทยอีกครั้งหนึ่งเร็ว ๆ นี้ เพื่อเร่งตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น” นายมารุตกล่าว
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ฝ่ายกิจการสัมพันธ์
ชาลี จารุวัสตร์ / สิทธิไชย ไชยันต์
บุษบรรณ จีนเจริญ/ ต้องจิตร วัฒนาเมธี / พัลลภ ลิ่มสกุล
โทร. 02 537 4000--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--
- พ.ย. ๐๕๙๘ ภาพข่าว: เชฟรอน ปตท. สผ. และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ร่วมแสดงความยินดีกับนิสิต หลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: ปตท. สผ. ฉลองความสำเร็จจำหน่ายหุ้นกู้ 40,000 ล้านบาท
- พ.ย. ๖๐๔๐ ภาพข่าว: ปตท.สผ. สนับสนุนมูลนิธิกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติฯ ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ และสร้างฝายต้นน้ำ