วช. จัดสัมมนา เรื่อง “โครงการเมืองท่าปลอดภาษี ภูเก็ต”

พุธ ๒๕ สิงหาคม ๒๐๐๔ ๑๐:๒๘
กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--วช.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนดจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการวิจัย เรื่อง “โครงการเมืองท่าปลอดภาษี ภูเก็ต” ในวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2547 ณ ห้องจามจุรีบอล์ลรูม โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เวลา 09.15 น.
จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบกับปัญหาภัยก่อการร้ายสากล เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ และโรคระบาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอย่างมาก รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มีนโยบายที่จะพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองท่าปลอดภาษี ทั้งนี้เพราะภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีรากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงและมั่งคั่ง มีโอกาสที่จะขยายฐานการท่องเที่ยวให้สามารถยกระดับมาตรฐานกิจกรรมและบริการได้ทัดเทียมระดับโลก อีกทั้งยังเป็นแหล่งธุรกิจการค้าการส่งออกระหว่างประเทศ สามารถที่จะทำการเชื่อมโยงการพัฒนาสู่ระดับนานาชาติได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย รายได้ของจังหวัดภูเก็ตยังด้อยอยู่มาก ทั้งนี้เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นเมืองท่าปลอดภาษี โดยงดเก็บภาษีสินค้านานาชาติ (international goods) และสินค้าการท่องเที่ยว (traveller’s goods) ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับและพิสูจน์แล้วว่าก่อให้เกิดรายได้ต่อประเทศ ก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ สร้างความเชื่อมั่นจนได้รับการยอมรับให้เป็นสถานที่จัดประชุมของโลกและพัฒนาตลาด MICE (Meeting, Incentive, Conference, Exhibition) ซึ่งภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความเหมาะสมที่จะผลักดันและสนับสนุนให้เป็นเมืองท่าปลอดภาษีดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จึงได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ รศ.สมเกียรติ โอสถสภา และคณะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง โครงการเมืองท่าปลอดภาษี ภูเก็ต เพื่อศึกษาวิเคราะห์และวางแผนในการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองท่าปลอดภาษี
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้กำหนดจัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการวิจัย เรื่อง “โครงการเมืองท่าปลอดภาษี ภูเก็ต” ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการนำเสนอผลที่ได้จากการศึกษาวิเคราะห์ เสนอแผนงาน และแนวทางการดำเนินการจัดตั้งภูเก็ตให้เป็นเมืองท่าปลอดภาษีสู่สาธารณชน ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็น เพื่อนำข้อเสนอแนะหรือผลจากการอภิปรายไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย นักวิจัย วิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และประชาชนผู้สนใจ จำนวนประมาณ 200 คน
เมืองท่าปลอดภาษี ภูเก็ต
ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีลักษณะเป็นเกาะ มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย มีทรัพยากรท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่น สวยงาม หลากหลายและมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทำให้จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดในบริเวณใกล้เคียงมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นส่วนประกอบหลัก แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคซาร์ส (SARS) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและสถานการณ์ภัยก่อการร้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยลดน้อยลง เกิดปัญหาเงินทุนหมุนเวียน การเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ปัญหาหนี้สิน และภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้น การดำเนินการเมืองท่าปลอดภาษี ภูเก็ต จึงเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่จะเร่งพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นสวรรค์ของการจับจ่ายใช้สอย (Shopping of Paradise) เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและแรงจูงใจของผู้บริโภค รวมทั้งผู้ลงทุนภายในประเทศและจากต่างประเทศและเป็นการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจการค้าบริเวณภาคใต้ทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ยังเป็นหัวใจในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวทั้งในภาคใต้และของประเทศไทยโดยรวม
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยประเภทเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แก่ รองศาสตราจารย์สมเกียรติ โอสถสภา และคณะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “โครงการเมืองท่าปลอดภาษี ภูเก็ต” เพื่อศึกษาวิเคราะห์ในการสร้างจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองท่าปลอดภาษี สร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในด้านการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและการใช้จ่าย รวมทั้งเป็นการลดเงื่อนไขข้อเสียเปรียบในการแข่งขันกับเมืองท่าปลอดภาษีและเขตปลอดภาษีอื่นๆ
ผลจากการวิจัยพบว่า บุคลากรในจังหวัดภูเก็ตมีความรู้เรื่องทิศทาง นโยบาย และการพิจารณาประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ อย่างลึกซึ้ง ประชาชนมีความรู้ในการบริหารบ้านเมืองดี วิสัยทัศน์การพัฒนาภูเก็ตถูกกำหนดและเห็นชอบโดยทุกฝ่าย และจากการที่คณะนักวิจัยได้เข้าร่วมในการสัมมนาศึกษาความต้องการของชาวจังหวัดภูเก็ต สรุปได้ว่าชาวภูเก็ตต้องการให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัด และต้องการให้มีคำสั่งให้ทุกหน่วยราชการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น ความสะอาดของชายหาด ที่สาธารณะ เร่งบังคับการใช้ผังเมืองรวม เป็นต้น หากแต่ชาวภูเก็ตยังมีความขัดแย้งในเรื่องของการบริหารทิศทางของเกาะภูเก็ตอันเนื่องมาจากการถือครองที่ดิน ลักษณะทางกายภาพของเมืองที่ต้องการรักษาสภาพเมืองให้ปราศจากมลภาวะ วัฒนธรรมทางการค้า ดังนั้น ความต้องการของชาวภูเก็ตในการจัดตั้งเมืองท่าปลอดภาษีจึงมีน้อย
ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางในการดำเนินการจัดตั้งภูเก็ตเป็นเมืองท่าปลอดภาษี โดยจัดทำเป็นแผน 2 ระยะ คือแผนระยะสั้น ได้แก่ การจัดตั้งเขตปลอดภาษีสำหรับประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และแผนระยะยาว ได้แก่ การเป็นเมืองท่าปลอดภาษีเต็มรูปแบบ และจัดตั้งองค์การพิเศษที่มีลักษณะเป็นองค์กรมหาชนหรือบรรษัทพัฒนาเมืองขึ้นมาเป็นกลไกในการบริหาร
นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังได้เสนอยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการเมืองท่าปลอดภาษี 6 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ควบคู่กับการรักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพและบริการที่ได้มาตรฐาน ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูเก็ตให้เป็นเมืองเทคโนโลยีสารสนเทศ (Phuket ICT City) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการภูเก็ตเพื่อรองรับเมืองท่าปลอดภาษี ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนและสังคม และยุทธศาสตร์การพัฒนาภูเก็ตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version