ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต “บริษัทรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม” ของกลุ่มน้ำตาลมิตรผล ที่ “BBB+” พร้อมแนวโน้ม “Stable”

ศุกร์ ๒๗ สิงหาคม ๒๐๐๔ ๐๘:๐๔
กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตระดับ “BBB+” แก่ บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด โดยสะท้อนสถานภาพการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลในกลุ่มน้ำตาลมิตรผลที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของประเทศ ตลอดจนประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลที่ดีกว่าอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย และตราสัญลักษณ์ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป แม้ว่ากว่า 60% ของรายได้จากการขายน้ำตาลจะมาจากการส่งออก แต่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทจากความผันผวนของราคาน้ำตาล อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากโครงสร้างเงินทุนของบริษัทและกลุ่มที่มีอัตราการก่อหนี้ในระดับสูง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทและกลุ่มน้ำตาลมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทยเอาไว้ได้ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทน่าจะค่อนข้างคงที่จากผลของระบบแบ่งปันผลประโยชน์ดังกล่าว
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม บริหารโรงงานน้ำตาล 3 แห่งจากทั้งหมด 5 แห่งของกลุ่มมิตรผล โดยโรงงานตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยที่ใหญ่ที่สุด คือ จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ด้วยกำลังการหีบอ้อยรวม 67,000 ตันอ้อยต่อวัน และกำลังการผลิตน้ำตาลทรายขาวรวม 3,000 ตันน้ำตาลต่อวัน คิดเป็น 60% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของกลุ่มมิตรผล ในปีการผลิต 2546/2547 กลุ่มมิตรผลมีปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายสูงที่สุดด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 18.5% ตามมาด้วยกลุ่มไทยรุ่งเรือง 15.4% กลุ่มไทยเอกลักษณ์ 12.2% และกลุ่มวังขนาย 10.4% ปัจจุบันผู้ถือหุ้นของบริษัทประกอบด้วย บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (87.56%) ของตระกูลว่องกุศลกิจ และ บริษัท น้ำตาลตะวันออก จำกัด (8.97%) ของตระกูลวัธนเวคิน ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของบริษัทคือ น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายดิบคุณภาพสูง น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ บริษัทให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์มากที่สุด ซึ่งมีปริมาณขายรวมมากกว่า 70% เพราะมีมูลค่าที่สูงกว่าและมีความผันผวนของราคาที่ต่ำกว่าน้ำตาลทรายดิบ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ประเทศไทยมีโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 46 โรง นโยบายควบคุมและจำกัดจำนวนโรงงานน้ำตาลของรัฐบาลทำให้การแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีไม่มากนัก แต่การจัดสรรปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวในประเทศตามโควตา ก. ซึ่งกำหนดโดยปริมาณน้ำตาลทรายที่ผลิตจริงของแต่ละโรงงานทำให้การจัดหาอ้อยเข้าหีบเป็นปัจจัยสำคัญต่อรายได้ของแต่ละบริษัท บริษัทจึงจัดทำสัญญาซื้อขายอ้อยล่วงหน้ากับชาวไร่โดยกำหนดปริมาณอ้อยที่ชาวไร่ต้องส่งมอบเพื่อให้มีอ้อยเข้าหีบในปริมาณที่แน่นอน บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวไร่อ้อยโดยให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการเงินและการจัดการอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการสนับสนุนปุ๋ย การพัฒนาพันธุ์อ้อย และการปรับปรุงระบบชลประทาน กลุ่มมิตรผลยังมีบริษัทวิจัยและพัฒนาของตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพและผลผลิตอ้อยโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพันธุ์อ้อยเป็นพิเศษด้วย น้ำตาลทรายที่บริษัทผลิตได้ในปีการผลิต 2546/2547 มีประมาณ 830,000 ตัน โดยประสิทธิภาพของโรงงานของบริษัทอยู่ในระดับดีกว่าอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย บริษัทสามารถขยายระยะเวลาการผลิตน้ำตาลออกไปเป็นประมาณ 11 เดือนโดยนำน้ำตาลทรายดิบที่เก็บไว้มาผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาวในช่วงหมดฤดูการหีบอ้อยที่มีปีละเพียง 4-5 เดือน ซึ่งทำให้บริษัทสามารถกระจายต้นทุนคงที่และทำให้ต้นทุนในการผลิตน้ำตาลลดลง
แม้ว่าราคาน้ำตาลทรายในประเทศค่อนข้างมีเสถียรภาพ แต่บริษัทก็ยังคงประสบกับภาวะราคาผันผวนในตลาดส่งออก ดังนั้น บริษัทจึงมีนโยบายกำหนดราคาขายน้ำตาลส่งออกบางส่วนให้สอดคล้องกับราคาอ้างอิงของอุตสาหกรรมที่กำหนดโดย บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลก็มีส่วนช่วยให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่ นอกจากนี้ การที่บริษัทเน้นลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมก็ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าพื้นฐาน อัตราการก่อหนี้ที่สูงของบริษัทส่วนหนึ่งมาจากการลดค่าเงินบาทในปี 2540 และการโอนย้ายสินทรัพย์ระหว่างบริษัทภายในกลุ่มมิตรผล มีผลทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทตามงบการเงินรวมอยู่ที่ 86.71% ในปี 2546 บริษัทมีนโยบายที่จะจัดหาเงินกู้ของแต่ละโครงการแยกจากกันและคงอัตราส่วนเงินกู้ระยะยาวต่อส่วนของทุนที่ระดับไม่เกิน 2.5 เท่า อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายตามงบการเงินรวมของบริษัทที่ 4.29 เท่าในปี 2546 จัดว่าอยู่ในระดับที่ดี อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทอยู่ที่ 21.80% ในปี 2546 ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นคงตัวอยู่ในช่วง 20%-30% ซึ่งเป็นผลมาจากระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version